มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สรุปสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจากข่าวปี พ.ศ.2565 ที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ พบว่าปี 2565 มีรายงานข่าวถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 3 เท่า (ปี 2564 พบรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัว 372 เหตุการณ์) โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 347 ข่าว คิดเป็น 30.7% และยาเสพติด 272 ข่าว คิดเป็น 24%
จากรายงานข่าวพบการฆ่ากันตายในครอบครัวสูงที่สุด มีถึง 534 ข่าว คิดเป็น 47.2% การทำร้ายกัน 323 ข่าว คิดเป็น 28.6% การฆ่าตัวตาย 155 ข่าว คิดเป็น 13.7% ข่าวความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 64 ข่าว คิดเป็น 5.6%
โดยการฆ่ากันตายในครอบครัว เกิดเหตุระหว่างสามีภรรยาสูงสุด 213 ข่าว คิดเป็น 39.9% และเป็นข่าวสามีฆ่าภรรยาสูงถึง 157 ข่าว คิดเป็น 73.7% สาเหตุมาจาก หึงหวง ระแวงว่าภรรยานอกใจ 94 ข่าว คิดเป็น 55% ง้อไม่สำเร็จ 46 ข่าว คิดเป็น 26.9% วิธีการที่ใช้มากสุดคือปืนยิง 93 ข่าว คิดเป็น 53.4% ใช้ของมีคม 51 ข่าว คิดเป็น 29.3% และตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต 13 ข่าว คิดเป็น 7.5%
ที่น่าห่วงคือการมองปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวภายใต้ระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง สังคมต้องเริ่มต้นจากการป้องกันโดยจับสัญญาณความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่ระยะแรก เช่น การหึงหวง การบังคับควบคุม ข่มขู่ รุกราน รวมทั้งกรณีที่มีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดร่วมด้วยมีแนวโน้มส่งผลให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในส่วนการแก้ไขหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรเพิ่มการทำงานเชิงรุกด้วยการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในพื้นที่ให้มีทักษะในการจับสัญญาณความรุนแรงในครอบครัวและเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งการพัฒนากลไกให้เข้มข้นในการคุ้มครองผู้ประสบปัญหาและมีกระบวนการปรับทัศนคติผู้กระทำด้วย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ภรรยาไม่ใช่สมบัติของสามี
ข้อมูลจาก คุณจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล