แชร์

ชุมชนวัดสวัสดิ์ฯ เขตดุสิต เดินหน้าสร้างพื้นที่ปลอดเหล้า บุหรี่ สร้างสุขภาวะ

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
629 ผู้เข้าชม

(เผยแพร่ข่าวสาร เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566)

“วัด” เป็นหนึ่งในพื้นที่ตามกฎหมาย ห้ามไม่ให้มีการจำหน่าย หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ที่ผ่านมากกลับพบว่ามีการฝ่าฝืนจำนวนมากในหลายพื้นที่ อย่าง “วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม” ซึ่งอยู่ติดคลองสามเสนใน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก็เป็นหนึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาอยู่ไม่น้อย ซึ่ง นางสาวเฉิดโฉม อภิชาติชัยกุล เจ้าหน้าที่ประสานงานฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เล่าถึงผลจากการรับฟังเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่พบว่ามีการตั้งวงดื่มแอลกอฮอล์บริเวณร้านค้าที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดด้านหน้า และสร้างปัญหากับทางวัดและคนในชุมชนมาก ทั้งการเสียงดังรบกวน การเข้ามาใช้ห้องน้ำของวัด ไปจนถึงการทำให้ศูนย์สุขภาพชุมชนเกิดความเสียหาย

ประการสำคัญคือทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะบ่อยครั้งที่คนมาวัด รวมถึงนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ละแวกนั้น จะถูกคุกคามด้วยคำพูด และสายตาจากคนที่จับกลุ่มดื่มเหล้าบริเวณนั้นๆ ทั้งๆ ที่วัด และพื้นที่โดยรอบวัดควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ที่ต้องเริ่มจากการปลอดสุรา และอบายมุข

ดังนั้น เรามีความเห็นตรงกันว่าควรมีมาตรการในการจัดการกับพื้นที่นี้รวมถึงทำให้คนในพื้นที่รับรู้ถึงกฎหมายด้วยเพื่อสร้างให้เกิดความปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง ก่อนที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงและปัญหาการคุกคามอื่นๆตามมา และเพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชนในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ทางมูลนิธิฯ ร่วมด้วยสมาคมนักขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ในการจัดทำโครงการ “สร้างพลังเครือข่ายชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมารามขับเคลื่อนงานพื้นที่ปลอดภัยสู่ชุมชนสุขภาวะ” ขึ้นมา

โดยมูลนิธิฯ จะเน้นการเสริมพลังให้กับชุมชนและเป็นตัวกลางดึงกลุ่มคนในชุมชน, วัด, โรงเรียน, ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงหน่วยงานสหวิชาชีพในพื้นที่เขตดุสิต อาทิ สำนักงานเขต,สน.ดุสิต, สน.สามเสน, กอ.รมน, เป็นต้น ที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ที่มีโอกาสสร้างผลกระทบจากการดื่ม มาร่วมกันจัดทำประชาคมและออกกติกาเพื่อการแก้ไขปัญหา และการอยู่ร่วมกัน สร้างต้นแบบของการรวมกลุ่มคนไม่ดื่มให้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง จนนำไปสู่การทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ด้าน นางสาวนัยนา ยลจอหอ หรือ “พี่หน่อย” ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ระบุว่า ปัญหาเรื่องของการดื่มเหล้า สูบบุหรี่เป็นปัญหาของทุกสังคม เช่นเดียวกับชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ซึ่งจะมีร้านค้าอยู่ 3 ร้าน คือร้านส้มตำ ร้านกาแฟ และร้านอาหารตามสั่ง จะเห็นว่าแม้ไม่ได้เป็นร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง แต่ก็เปิดให้ลูกค้าสามารถหิ้วจากที่อื่นมานั่งดื่มได้ แน่นอนว่าเมื่อมีคนเมา ย่อมมีผลกระทบตามมา คนเยอะ ก็มีการส่งเสียงโหวกเหวกรบกวนพระสงฆ์ และใช้ทรัพยากรของทางวัด เช่น ห้องน้ำห้องท่าที่เตรียมไว้บริการสำหรับผู้มาทำบุญ ก็มีคนดื่มเหล้าสูบบุหรี่ไปใช้บริการกันจำนวนมากไม่มีความเกรงใจ เกิดความสกปรกและเสื่อมโทรม

ทำให้เครือข่ายในพื้นที่ต้องหารือร่วมกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นวัด หรือความร่วมมือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งเป็นองค์กรที่เราทำงานร่วมกันมานานแล้ว แต่ครั้งนี้หันมาจับเรื่องเหล้า บุหรี่อย่างจริงจัง ภายใต้โครงการสร้างพลังเครือข่ายชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมารามฯ ออกนโยบายด้านสื่อ การรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายห้ามดื่มเหล้า สูบบุหรี่ในร้านค้าในวัด รอบวัด จัดทำไวนิล แผ่นพับ และเดินรณรงค์ร่วมให้ร้านค้าร่วมปฏิเสธการดื่ม การสูบ

ทั้งนี้ หลังดำเนินการได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็พบว่าในส่วนของร้านค้าให้ความร่วมมือในการปฏิเสธการนั่งดื่มเหล้า เบียร์เป็นอย่างดี ซึ่งจากการสอบถามร้านค้า ก็ระบุว่า ถึงแม้จะทำให้รายได้ในการขายของในแต่ละวันลดลง แต่เขามองว่าถ้าเป็นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะร้านเองก็อาศัยพื้นที่วัดในการขายของ จึงควรแล้วที่ต้องให้ความร่วมมือ

“ที่จริงพี่เองก็เคยมานั่ง แต่เราละอายแก่ใจ เราเป็นแกนนำ แต่พาคนมากินแล้วสร้างผลกระทบกับวัด แล้วจะไปบอกใครได้ ใครจะเชื่อ เลยปรับระเบียบตัวพี่เอง และคนในกลุ่มว่าจะไม่นั่งกินเหล้าในร้านค้าในพื้นที่วัด ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ในละแวกนี้ที่ยังเข้ามา ก็เป็นเรื่องที่เรายังต้องรณรงค์ต่อไป”

พี่หน่อย เล่าอีกว่า ตอนนี้จากที่สังเกตก็ไม่มีคนมานั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่น่าจะสอดรับกับแผนการพัฒนาพื้นที่ของทางกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้บริเวณนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวริมคลอง อนาคตอาจจะทำเป็นตลาด ถ้าทำได้จะมีคลองสวย สะอาด ถึงเราจะไม่รู้ว่าโครงการนี้จะสำเร็จเมื่อไหร่ แต่หากเราเตรียมพื้นที่ของเราให้ปลอดหล้าบุหรี่ ก็จะทำให้เกิดความปลอดภัย และถือโอกาสเป็นการฟื้นฟูสภาพพื้นที่เพื่ออนาคตของคนในชุมชนเอง

ผลกระทบที่ตามมาคือเรื่องของการส่งเสียงดัง ไม่ค่อยมีการทะเลาะวิวาทจากจากแอลกอฮอล์มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทเลย แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากกลุ่มวัยรุ่นที่มีการใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ ซึ่งถือว่าเลวร้ายพอๆ กัน เป็นการสร้างห่วงโซ่สิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร “เหล้า-บุหรี่-ยาเสพติด” เป็นวังวนอบายมุขที่ทำให้คนเหลงเข้าไปได้ง่าย

ดังนั้นพอเราเริ่มโครงการสร้างพลังเครือข่ายชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมารามขับเคลื่อนงานพื้นที่ปลอดภัยสู่ชุมชนสุขภาวะ ซึ่งทางร้านค้าต่างๆ ต่างก็ยอมรับว่ารายได้ลดลง ลูกค้าประจำที่เคยมานั่งจิบเบียร์สั่งกับแกล้มก็หนีไปกินที่อื่น แต่ทางร้านก็ยอมให้ความร่วมมืออย่างดี หรืออาจจะมีบ้างที่ยังมีการอนุญาตให้ดื่มได้ แต่ให้ใส่แก้วที่มิดชิดก็มี

อันที่จริงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ออกมานั้นมีการกำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามดื่มเครื่องดื่มในพื้นที่หนึ่งในนั้นคือวัด และโรงเรียน แต่ส่วนใหญ่ยังพบว่าร้านเหล่านี้ยังขายได้ และมีของให้ขายด้วย ตนจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับพนักงานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องนำมาส่งให้ร้านค้า ซึ่งพนักงานเหล่านั้นเองก็แปลกใจเหมือนกัน แต่ต้องส่งให้เนื่องจากว่าร้านค้าเหล่านี้ยังคงมีใบอนุญาตให้ขายสุราของกรมสรรพสามิตอยู่ ถือว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องว่างเมื่อกฎหมายกำหนดออกมาภายหลังแต่หากมองเรื่องของจิตสำนึกที่ควรรู้ว่า จะขายให้เด็ก เยาวชนหรือไม่ หรือว่าจะขายบุหรี่ แบบแบ่งขายหรือไม่ โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กและเยาวชน

“เพราะฉะนั้นถ้ามองผลลัพธ์ที่เรารณรงค์มาถือว่าโอเคระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ยังต้องปรับปรุงคือเรื่องของจิตสำนึก ของตัวบุคคลด้วย ว่าจะมีส่วนร่วมกับเราหรือไม่ บางครั้งชาวบ้านเองก็ยังให้เปิดใจ คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นเรื่องธรรมดา คิดว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน ดังนั้นสิ่งที่ควรจะต้องทำให้มากๆ ต่อจากนี้คือการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ ที่ต้องทำต่อเนื่องทั้งปีไม่ได้ทำเฉพาะช่วงเทศกาล เพื่อปรับทัศนคติการรับรู้ของประชาชนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากเหล้าบุหรี่ที่มีต่อตัวเองในสังคมนี้มากขึ้น”

ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊กสำนักงานเขตดุสิต

......

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_7499241

https://www.thailandplus.tv/archives/668244

https://mgronline.com/politics/detail/9660000012572

https://thailandinsidenew.com/2023/02/08/332076-2/ 


บทความที่เกี่ยวข้อง
แถลงข่าวโครงการ Abuse is Not Love ปีที่ 3
วันที่ 3 มีนาคม 2568 YSL Beauty แบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำภายใต้ ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดแถลงข่าวโครงการ Abuse is Not Love ปีที่ 3 เตรียมลงพื้นที่ให้ความรู้กับนักศึกษา มหาวิทยาลัยตลอดปี 2568
10 เม.ย. 2025
ขอแสดงความยินดีกับ คุณยุ้ย สุธิดา ราชรัตนารักษ์  ที่ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ "สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง" ประจำปี พ.ศ. 2568
ขอแสดงความยินดีกับ คุณยุ้ย สุธิดา ราชรัตนารักษ์ อาสาสมัครมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ "สตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง" ประจำปี พ.ศ. 2568 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
10 เม.ย. 2025
กิจกรรม Makeup Session เสริมพลัง สร้างความมั่นใจด้วยการแต่งหน้าให้กับอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ YSL Beauty จัด Makeup Session กิจกรรมเสริมพลัง สร้างความมั่นใจด้วยการแต่งหน้าให้กับอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
10 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy