แชร์

คนต้นทาง

อัพเดทล่าสุด: 13 ก.ย. 2023
509 ผู้เข้าชม

ผู้ร่วมบุกเบิกองค์กร

แกนนำของ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของมูลนิธิฯ และมีสถานะเป็นเสมือน “แกนกลาง” ในการถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ในการพัฒนาแนวคิดและกระบวนการทำงานมาสู่องค์กรแห่งนี้ ก็คือ จะเด็จ เชาวน์วิไล ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิงมาตั้งแต่ปี 2526 จนกระทั่งมีตำแหน่ง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง ตั้งแต่ปี 2544-2553 โดยสนใจทำงานพัฒนาขบวนการแรงงานหญิงตลอดมา จนเกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในระดับชาติที่ยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะแก่แรงงานหญิงโดยตรงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ, กฎหมาย “ลาคลอด 90 วัน” เป็นต้น

เกือบ 30 ปี กับประสบการณ์การทำงานพัฒนาสังคมอย่างเข้มข้น ผ่านพ้นตั้งแต่สถานะ “น้องใหม่” ที่ถูกส่งลงสนามแบบเริ่มต้นจากศูนย์ ทว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ในการช่วยเหลือผู้ยากไร้และวาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น มาจนเป็น “พี่ใหญ่” คนหนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนที่เลือกฝังตัวทำงานมาตลอดชีวิตการทำงาน

ปลายปี 2553 จะเด็จ ตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตด้วยการลาออกจากการเป็นผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง เพื่อย้อนกลับไปเริ่มต้นจากศูนย์อีกครั้ง...

เขาและเพื่อน ๆ ร่วมงานรุ่นน้องที่มีความฝันร่วมกันจำนวนหนึ่งบุกเบิกองค์กรใหม่ในชื่อ “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” ในปี 2554

✤ ชื่อขององค์กร สะท้อนให้เห็นจุดยืนสำคัญในการทำงานพัฒนา ที่ไม่ได้เน้นที่เพศใด แต่ให้ความสำคัญกับความเป็นกลาง การสอดประสาน กลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียว (wholeness) อันเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง

✤ ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ มีที่มาจากคำแนะนำจาก รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ ที่เคยเสนอแนะทิศทางให้แก่มูลนิธิเพื่อนหญิง ในครั้งที่จะเด็จคิดเริ่มบุกเบิกงานลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กจากการดื่มสุราว่า “น่าจะแก้ปัญหาไปที่ครอบครัว เมื่อโจทย์ของปัญหานี้มาจากผู้ชายดื่มเหล้าก็น่าจะทำเรื่องผู้ชายเลิกเหล้า”

✤ ทิศทางใหม่ดังกล่าว ทำให้เกิดการขยายมุมมองจากประเด็น “เลิกเหล้า” ไปสู่ประเด็นอื่น ๆ เพื่อให้สำนึกในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเท่าเทียมกันคืนกลับมา ซึ่งแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน 

ในยุคที่คิดปักหลักองค์กรแห่งนี้ ทั้งที่ยังไม่มีเงินทุนตั้งต้นแม้แต่บาทเดียว แต่นั่นกลับไม่ได้ทำให้สมาชิกรู้สึกว่างเปล่าขาดแคลน เพราะภาพของสิ่งที่คิดจะทำร่วมกันนั้นเพียงพอต่อการเติมเต็มชีวิตให้พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ

จะเด็จ ผู้ซึ่งขณะนั้นล่วงใกล้วัยห้าสิบปีสะท้อนความคิดที่อยู่เบื้องหลังก้าวใหม่ในครั้งนี้ว่า

“ที่ผ่านมา องค์กรพัฒนาเอกชนที่เริ่มต้นจากศูนย์จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก แกนนำมักมีความเป็นเจ้าของ เป็นผู้กำหนดทิศทางจนคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ร่วมมีบทบาทในการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร แต่ผมเองมีคำถามในใจว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ องค์กรจะเติบโตไปได้อย่างไร เพราะวันหนึ่ง แกนนำรุ่นแรก ๆ ก็จะมีอายุมาก เหนื่อย อ่อนล้า เราจะทำงานไปได้ระยะยาวหรือ? ผมคิดว่า คนรุ่นเก่า ๆ อย่างผมควรลดบทบาทลงมาเป็นผู้ช่วยหนุน (support) ให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้บริหารงาน และเรียนรู้ที่จะมาดูแลองค์กรให้เติบโตไปได้ในอนาคต เพราะเขามีความเข้าใจสังคมแบบใหม่มากกว่า”

“มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” ถูกออกแบบให้เป็น “ประดิษฐกรรมใหม่” ในรูปองค์กรขนาดกะทัดรัดที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ กำหนดทิศทางการทำงาน และเติบโตไปด้วยกัน เขาและน้อง ๆ ทั้งจากมูลนิธิเพื่อนหญิงที่เดินมาถึงจุดอิ่มตัว และที่มาร่วมงานตั้งแต่ยุคก่อตั้งด้วยความมุ่งมั่นจวบจนผ่านพ้นทศวรรษแรก ได้แก่ อังคณา อินทสา มาร่วมกันบุกเบิกองค์กรใหม่นี้ โดยที่ยังไม่มีเงินเดือนหรือสวัสดิการใด ๆ รองรับ 

อังคณา หนึ่งในคนที่กล้าตอบรับความท้าทายในการ “สร้างบ้านหลังใหม่” ด้วยมือตนเอง กล่าวว่า

“ตอนที่ตัดสินใจมีการคุยกันว่า เราจะมาสร้างบ้านหลังใหม่กัน โดยไม่มีเงิน ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีอะไรเลย”

เธอช่วยทำหน้าที่ตัวแทนสะท้อนความคิดของเพื่อน ๆ ที่เป็นนักพัฒนาสังคมรุ่นใหม่ ซึ่งมาทำงานร่วมกันในองค์กรเล็ก ๆ แห่งนี้ว่า “จุดร่วมที่มารวมตัวกันก็คงเป็นเพราะอยากทำงานกับชุมชน อยากทำงานเพื่อสังคม คงเป็นเพราะมันตอบโจทย์บางอย่างในตัวเอง บางคนบอกว่า เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเพิ่มขึ้น”

“พวกเราที่นี่บางคนบอกว่า รู้สึกว่าตัวเองได้ถูกพัฒนา ทั้งเรื่องวิธีคิดและทักษะการทำงาน รวมไปถึงการที่เราได้ลงไปทำงานในชุมชนแล้วได้เห็นว่าชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง”

“จากภาพที่เคยเห็นผู้ชายที่ตบตีเมีย ครอบครัวมีปัญหา แล้วได้รับการปรับเปลี่ยนไป ครอบครัวเขามีความสุขขึ้น และตัวเขาเองจากที่เคยสร้างปัญหาก็ไปช่วยเหลือคนอื่นต่อ ตรงนี้ละค่ะที่มันทำให้พวกเราคนทำงานรู้สึกว่า งานที่เราทำมันเกิดผลและสร้างคุณค่าให้กับคนในชุมชนและสังคมที่เราอยู่...”

ขณะที่จะเด็จ ในฐานะ “สถาปนิก” ผู้วางพิมพ์เขียวให้แก่บ้านที่เขาเปรียบเปรยว่าเป็น “ประดิษฐกรรมใหม่” แห่งนี้ ก็สะท้อนมุมมองของเขาไว้ว่า

“ผมโตมากับสังคมแบบหนึ่ง ไม่อยากให้เดินไปในรอยเดิม ๆ ที่ผู้นำมีบทบาทสำคัญสูงสุด...องค์กรแบบใหม่มันต้องให้สมาชิกมานำร่วมกัน แต่ละคนมีความเชื่อมั่นในพลังของตนเอง อย่าไปเชื่อมั่นว่าใครจะมาเป็น ‘ฮีโร่’ หากผมคิดจะครอบ องค์กรไม่มีทางไปรอด เราต้องคิดเรื่องสร้างคน และลดบทบาทลงมาเป็นแค่ที่ปรึกษา”

“เรายังมุ่งที่ไปเป้าหมายเดิม เพียงแต่เนื้อหาต้องเปลี่ยน วิธีคิดต้องเปลี่ยน ถึงจะอยู่รอดได้ มันต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของบริบทคนอีกรุ่นหนึ่ง ไม่ใช่บริบทของผม”

“วันนี้ผมเชื่อว่า วิถีใหม่ของการพัฒนาคือการนำรวมหมู่ เราเห็นกันอยู่ชัด ๆ มันมาถึงจุดเปลี่ยน สังคมไทยกำลังวิกฤติขึ้นทุกวัน แล้วเราจะมัวรออะไรกัน...เราต้องเปลี่ยนเลย”

......

“องค์กรนี้จะเป็นอย่างไร เติบโตไปในทางไหน ผมขอให้มันขึ้นกับคนรุ่นใหม่ มันต้องมาจากมือของพวกเขา ไม่ควรเป็นผม... ประดิษฐกรรมใหม่นี้ไม่ใช่ของผม...ทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไปต้องมาจากน้อง ๆ”


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy