โดยหนึ่งในการพัฒนาที่อยู่อาศัย คือการพัฒนาให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนสำหรับทุกเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ขับเคลื่อนการสร้างความเท่าเทียมทางเพศบนหลักการความเชื่อว่า บทบาทหญิงชายได้ถูกสร้างขึ้นผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ประเพณี วัฒนธรรม อุดมการณ์ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดบทบาทหน้าที่ของหญิงชายให้แตกต่างในสังคม
สาเหตุสำคัญที่สร้างความรุนแรงมาจากค่านิยมชายเป็นใหญ่ นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก มีแนวโน้มมากขึ้น
การแก้ไขปัญหาต้องใช้กระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิฯ จึงออกแบบกระบวนการทำงานและเครื่องมือสร้างการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมของคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยกระบวนการและเครื่องมือที่สร้างการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมนั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากฐานคิดชายเป็นใหญ่นั้นก่อรูปอยู่ในระดับสำนึก (Consciousness) ของปัจเจกบุคคล เชื่อมโยงสู่รูปแบบพฤติกรรม (Pattern of Behavior) กระบวนแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องใช้กระบวนการเสริมพลังอำนาจ (Empowerment) เพื่อช่วยให้บุคคลเกิดศักยภาพสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่บุคคล ครอบครัว องค์กร และชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเนื่องจากฐานคิดชายเป็นใหญ่
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกเพศในชุมชน โดยมูลนิธิฯ มีพื้นที่ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชุมชนเมือง ชนบท และสหภาพแรงงาน ผ่าน 4 ขั้นตอน คือ
1.การสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้นำจิตอาสาในชุมชนหรือการพัฒนาแกนนำ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการพัฒนาต้นทุนทางสังคม มีการใช้เครื่องมือทั้งการประชุม การอบรม การพูดคุยในประเด็นแนวคิดความรุนแรง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาให้เกิดทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน มีความเชื่อในศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
2.การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องการลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรง ผ่านเครื่องมือการฟังอย่างตั้งใจ การลงเยี่ยม กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ค่ายครอบครัว ตามบริบทพื้นที่ที่จะนำไปใช้ทำงานกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3.การสร้างการตื่นตัวตระหนักรู้ให้กับสังคมผ่านการสร้างกระแสทางสังคมตามโอกาสสำคัญต่างๆ
4.การส่งเสริม สนับสนุนพื้นที่สุขภาวะหรือพื้นที่เชิงบวกเพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่แก่ผู้ที่ต้องการลด ละเลิกเหล้า เช่น การปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่เมืองและชนบท ถือเป็นเครื่องมือในการปรับพฤติกรรมเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรความรุนแรงแบบเดิม
การพัฒนาพื้นที่ชุมชน จุดเน้นสำคัญต้องดึงศักยภาพให้คนในชุมชนตระหนักรู้ในปัญหา มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในชุมชน พร้อมสร้างพื้นที่เชิงบวก พื้นที่สร้างสรรค์ควบคู่กันไปจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาคามรุนแรงในครอบครัวและชุมชนได้ จากการปฏิบัติการจริงในพื้นที่ชุมชนนำร่อง พบว่า แกนนำมีคณะทำงานแบบมีส่วนร่วมทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เกิดพื้นที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทุกเพศในชุมชน เกิดกลไกแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การบูรณาการประเด็นเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาพื้นที่เชิงบวกในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เกิดพื้นทีปลูกผักอินทรีย์ส่วนกลางและในครัวเรือน รวมถึงการส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว