share

ไฟไหม้เมาท์เทนบี ความหละหลวมในการใช้กฎหมาย และการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม

Last updated: 5 Sep 2023
169 Views
ไฟไหม้เมาท์เทนบี ความหละหลวมในการใช้กฎหมาย และการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม

(เผยแพร่บทความเมื่อ 26 สิงหาคม 2565)

5 สิงหาคม 2565 เกิดเหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิงเมาท์เทนบี ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เปลวเพลิงที่คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวกว่า 20 คน สร้างบาดแผลให้กับครอบครัว หรือแม้กระทั่งผู้ที่รอดชีวิต ไม่ต่างอะไรจากเหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

“ความหละหลวมของการบังคับใช้กฎหมาย”

จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญพบว่าไฟไหม้ครั้งนี้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ประกอบกับภายในมีวัสดุติดไฟจำนวนมาก ทำให้เกิดการลุกลามของเพลิงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งทางออกฉุกเฉินที่ไม่เพียงพอ รวมถึงการรับมือสถานการณ์ไฟไหม้ของร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบว่าเมาท์เทนบีเปิดเป็นสถานบันเทิงที่ไม่ได้รับอนุญาต มีการต่อเติมอย่างผิดกฎหมาย และยังปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปใช้บริการ ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ในขณะที่ผู้มีอำนาจอ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าเมาท์เทนบีคือสถานบันเทิง ผับ บาร์ จึงนำไปสู่การตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความหละหลวมในการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานของสถานบันเทิง รวมไปถึงการจัดการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม

“ผับบาร์จะเป็นสถานที่ของอภิสิทธิชนมิได้ กฎหมายต้องเท่าเทียม”

คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวในงานเสวนา “จากซานติก้าผับถึงเม้าท์เทนบี…แก้อย่างไรให้ตรงจุด” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ ว่า “หากเราย้อนกลับไปเมื่อปี 2536 เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ มีผู้เสียชีวิต 188 คน ปี 2536 เกิดเหตุโรงแรมรอยัลพล่าซ่าถล่ม มีผู้เสียชีวิต 137 คน ปี 2542 โรงงานลำใยอบแห้งระเบิด มีผู้เสียชีวิต 36 คน มาจนถึงไฟไหม้ซานติก้าผับ เมื่อปี 2551 มีผู้เสียชีวิต 67 คน ซึ่งกรณีโรงงานลำใยระเบิดนั้น ได้นำมาตรฐานข้อเรียกร้องที่นายจ้างโรงงานเคเดอร์จ่ายมาเป็นต้นแบบ เพื่อเรียกร้องกับนายจ้างโรงงานลำใยอบแห้ง กล่าวคือให้จ่ายค่าชดเชยผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ รายละ 200,000 บาท และจ่ายค่าการศึกษาบุตรผู้เสียชีวิต แต่ครั้งนั้นนายจ้างหนีออกนอกประเทศ จึงต้องเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยใช้เวลาต่อสู้กันนานถึง 6 เดือน จนรัฐบาลมีมติจ่ายเป็นกรณีพิเศษให้เท่ากับกรณีคนงานเคเดอร์ คือรายละ 200,000 บาท และให้ค่าการศึกษาบุตร แต่เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ไฟไหม้เมาท์เทนบีที่ได้รับการเยียวยาเพียงแค่รายละ 50,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยมาก ควรต้องได้เกือบล้านด้วยซ้ำหากเทียบเคียงกับกรณีโรงงานเคเดอร์ เพราะต้องคิดตามอัตราเงินเฟ้อ 4-5% ด้วย ข้อสำคัญผับบาร์จะเป็นสถานที่ของอภิสิทธิชนมิได้ กฎหมายต้องเท่าเทียม”

“ผู้เสียชีวิตที่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานหรือกำลังหลักของครอบครัว”

การได้รับชดเชยตามสิทธิ เช่น เงินจากประกันสังคม หรือจากกระทรวงมหาดไทย ถือว่าเป็นเงินเยียวยาที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงการจ่ายค่าชดเชยนั้นควรคำนวนความสูญเสียทางเศรษฐกิจตามประมาณการอายุของผู้เสียชีวิต ในขณะเดียวกันการเรียกร้องเงินชดเชยจากผู้ประกอบการก็เป็นเรื่องที่ยาก ผู้เสียหายจึงต้องรวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ได้มา

“รัฐต้องเป็นแกนกลางจัดสร้างพื้นที่ต่อรองระหว่างผู้ประกอบการกับครอบครัวผู้เสียหาย”

เช่นเดียวกับกรณีอื่น ๆ รัฐควรต้องเป็นแกนกลางจัดสร้างพื้นที่ต่อรองระหว่างผู้ประกอบการกับครอบครัวผู้เสียหาย ให้ได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรมที่สุด ผู้เสียหายควรได้รับเงินชดเชยจากทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการโดยอัตโนมัติ ไม่ควรที่จะต้องรวมกลุ่มต่อสู้เพื่อเรียกร้องการเยียวยาอีก ซึ่งสามารถแก้ปัญหาโดยการปฏิรูปออกกฎหมายให้นายทุน เจ้าของกิจการ ต้องรับผิดชอบค่าชดเชยกรณีอุบัติภัยต่างๆ หรือต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนชดเชยที่จัดตั้งขึ้นมาแทนการต่อรองเป็นรายกรณี

“การตรวจสอบที่เคร่งครัด รัดกุม จะลดความสูญเสียได้”

กระทรวงแรงงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องสิทธิประกันสังคมที่จะชดเชยค่าเสียหายและ พ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน จะต้องมีการตรวจสอบที่เคร่งครัด รัดกุมมากขึ้น เช่น สถานประกอบการมีทางหนีไฟที่ถูกต้องหรือไม่ หรือ มีการจัดให้ฝึกซ้อมหนีไฟเพื่อรับมือเหตุการณ์ไฟไหม้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่ต้องตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมให้สถานประกอบการปฏิบัติตาม เป็นการสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการและพนักงาน

แม้นี่จะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่หากเจ้าหน้าที่กวดขันรัดกุม ไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ออกใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ตรงประเภท มีการตรวจสอบความปลอดภัยและก่อสร้างอย่างมีมาตรฐาน ผู้ประกอบการไม่หลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือใช้ช่องว่างหาประโยชน์ให้กับตนเอง รวมไปถึงมีมาตรการรับมือหากเกิดอุบัติภัยต่าง ๆ ก็จะสามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญสถานประกอบการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ส่งเสียงดัง ทะเลาะวิวาท จึงควรกวดขันและจัดโซนนิ่งให้เป็นระเบียบ ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน ภาคส่วนต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบร่วมกันในการควบคุมดูแลและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เหล่านี้อย่างจริงจัง จะได้ไม่เกิดภาพฉายซ้ำเหมือนกับกรณีเพลิงไหม้ซานติก้าและเมาท์เทนบีอีก

รับชม เสวนา “จากซานติก้าผับถึงเมาท์เทนบี...แก้อย่างไรให้ตรงจุด” ย้อนหลัง

บทความที่เกี่ยวข้อง
วิธีการออกจากความสัมพันธ์ที่รุนแรง
สำหรับผู้ที่ถูกทำร้าย ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การก้าวออกจากความสัมพันธ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีข้อแนะนำวิธีการออกจากความสัมพันธ์รุนแรง
12 Mar 2024
การควบคุมที่มาจาก “อำนาจ” ที่ไม่เท่ากันในความสัมพันธ์ นำไปสู่ความรุนแรงในครอบ
ทำร้ายทางวาจาและร่างกาย เพื่อให้อีกฝ่ายยอมจำนน ว่าด้วยเรื่องการควบคุมที่มาจาก “อำนาจ” ที่ไม่เท่ากันในความสัมพันธ์ นำไปสู่ความรุนแรงในครอบ
6 Mar 2024
5 สัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง
ความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา คู่รัก หรือแฟน หากเกิดปัญหา ที่เริ่มมีสัญญาณว่าอาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง จะมีสิ่งที่สังเกตได้หรือ 5 สัญญาณอันตรายเชิงพฤติกรรมและการแสดงออกที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง
6 Mar 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy