"แรก ๆ ก็พูดจาไม่ค่อยดี ทำให้รู้สึกไม่มีค่า หนักเข้าก็เริ่มลงไม้ลงมือ ยิ่งกินเหล้า ยิ่งหนัก นี่คือรูปแบบของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงหลายคนระบายออกมาให้เราได้ฟัง การทำให้รู้สึกไม่มีค่า หรืออยู่ในการควบคุม เป็นหนึ่งในการใช้อำนาจเหนือของอีกฝ่าย จากครั้งแรก สู่ครั้งต่อไป และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ"
จากข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเก็บรวบรวมเป็นประจำทุกปี พบว่า ปี 2565 มีจำนวน 1,131 เหตุการณ์ สูงขึ้นจากปี 2564 ถึง 3 เท่า โดยพบว่า 30.7% มีสุราเป็นตัวกระตุ้น และ 24% เป็นยาเสพติด หากแยกประเภทของความรุนแรงจะพบว่า 47.2% เป็นข่าวฆ่ากันตายในครอบครัว และ 28.6% เป็นข่าวทำร้ายกัน ในขณะที่การฆ่ากันตายในครอบครัวเกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยา 39.9% ในจำนวนนี้เป็นกรณีที่สามีฆ่าภรรยาถึง 73.7% ส่วนสาเหตุเชื่อว่าหลายคนพอจะเดากันได้ หึงหวง ระแวงว่าภรรยานอกใจ 55% ง้อไม่สำเร็จ 26.9% วิธีการที่ใช้มากสุดคือ ปืนยิง 53.4% ใช้ของมีคม 29.3% และตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต 7.5%
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์เพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านหน้าข่าว หากถามว่าทำไมสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวถึงไม่ลดลง ทั้ง ๆ ที่สังคมออกมาเรียกร้องและมีความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิต่าง ๆ มากขึ้น คงตอบได้ว่า ใช่ แต่ยังไม่มากเพียงพอที่จะทำให้ปัญหานี้ลดลงได้ เราต่างก็อยู่ในสังคมที่คุมชิ้นกับคำว่า อำนาจ กันเป็นอย่างดี ในแง่มุมของความสัมพันธ์ ผู้ที่มีอำนาจเหนือกลายเป็นผู้ที่ต้องการควบคุม เห็นอีกฝ่ายเป็นสมบัติส่วนตัว และยอมไม่ได้หากอีกฝ่ายไม่ทำตามที่ตนเองต้องการ ความคุ้นชินนี่แหละที่ทำให้เราเผลอคิดว่าการใช้และการถูกใช้อำนาจเหนือเป็นเรื่องปกติ
อย่างกรณีของ นุ่น ที่ถูกสามีฆ่าและนำศพไปอำพราง https://www.sanook.com/news/9250042 ยิ่งย้อนไทม์ไลน์ต่าง ๆ ก็ยิ่งพบว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นุ่นถูกใช้ความรุนแรง โดยในครั้งนี้ฝ่ายชายอ้างว่าทำไปเพราะความเครียดสะสม หึงหวง ประกอบกับความมึนเมา ขาดสติ เหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวขยายขอบเขตและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเหตุฆาตรกรรมน่าสลด
และเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว หลายคนมักตั้งคำถามว่าทำไมอีกฝ่ายถึงไม่ยอมออกจากความสัมพันธ์นั้น? เราอยากให้ทุกคนเข้าใจใหม่ ไม่มีใครอยากอยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้น แต่บางสถานการณ์ไม่ได้เอื้อต่อการออกจากความสัมพันธ์ได้ง่าย เช่น บางครอบครัวสามีเป็นฝ่ายหาเงิน ให้ภรรยาทำงานบ้าน เลี้ยงดูลูก การจะต้องยุติความสัมพันธ์ย่อมหมายถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจที่จะตามมา หรือกลัวว่าลูกจะมีปัญหาในอนาคต บางคนถูกอีกฝ่ายข่มขู่ แบลคเมล์ หรือให้ความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ในขณะที่ผู้หญิงบางคนก็ถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่สามารถออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้แล้ว การจะออกจากความสัมพันธ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน
หมั่นสังเกตสัญญาณของความรุนแรงในครอบครัว หลายคนเข้าใจว่าบางพฤติกรรมคือการแสดงออกของความรัก ยิ่งรักมาก ยิ่งหวงมาก ซึ่งในความเป็นจริงนี่คือการแสดงออกถึงการมีอำนาจที่เหนือกว่า และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในอนาคต โดยสัญญาณของความรุนแรงที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลสรุป มี 3 ข้อ ได้แก่ หึงหวง ควบคุม และตามง้อ (ระรานไม่เลิกรา) เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดสัญญาณเหล่านี้ขึ้นไม่ได้แปลว่าเป็นสัญญาณของความรัก หึงหวงแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ระแวงเมื่ออยู่ใกล้บุคคลอื่น ควบคุมการใช้ชีวิต เช็คโทรศัพท์ บังคับให้แต่งกายมิดชิด ข่มขู่หากไม่ทำตามที่ตัวเองต้องการ หรือแม้จะเลิกกันแล้วอีกฝ่ายก็ยังตามระรานไม่เลิกรา รวมไปถึงพฤติกรรมรุนแรง หรือการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมหลังจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีหลายมิติ เราจึงต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจให้กับสังคม สร้างพื้นที่ที่เป็นมิตร ผลักดันกลไกภาครัฐให้เอื้อต่อการออกจากความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึงการสังเกตสัญญาณของความรุนแรงและออกจากความสัมพันธ์ก่อนที่จะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้นได้