LGBTQ+ กับความเหลื่อมล้ำที่ซ้อนทับ และความรุนแรงในครอบครัว
อำนาจชายเป็นใหญ่ : รากของการกดทับ ความรุนแรง และความไม่เท่าเทียมที่ทุกเพศต้องเผชิญ
ภายใต้การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิง และ LGBTQ+ หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า ทั้งสองกลุ่มต่างเผชิญกับต้นตอปัญหาเดียวกัน นั่นคือ โครงสร้างอำนาจแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งมองว่าความเป็น "ชาย" คือมาตรฐานที่เหนือกว่า โครงสร้างนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเหลื่อมล้ำ แต่ยังกดทับสิทธิ เสรีภาพ และเปิดทางให้เกิดการเลือกปฏิบัติ รวมไปถึงความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว
ความรุนแรงไม่เลือกเพศ : ปัญหาที่ทุกความสัมพันธ์ต้องตระหนัก
แม้เราจะคุ้นเคยกับการพูดถึงความรุนแรงทางเพศหรือความรุนแรงในครอบครัวในบริบทของชาย-หญิง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรุนแรงไม่เลือกเพศ ไม่เลือกเชื้อชาติ และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ ตัวอย่างจากเคสที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้ให้คำปรึกษา มีกรณีความรุนแรงจากคู่รักเพศเดียวกัน เช่น คู่รักชายไทยกับชายชาวต่างชาติ ที่เผชิญกับการคุกคามทางเพศในความสัมพันธ์
นี่คือภาพสะท้อนว่า ตราบใดที่โครงสร้างชายเป็นใหญ่ยังคงอยู่ อำนาจที่ไม่เท่าเทียมก็สามารถเกิดขึ้นในทุกเพศทุกความสัมพันธ์ และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้เสมอ
สมรสเท่าเทียม : ความก้าวหน้า... ที่ยังต้องเดินต่อ
ในช่วงเวลาที่สังคมไทยก้าวสู่การยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยเฉพาะ สมรสเท่าเทียม ซึ่งเปิดโอกาสให้คู่รักทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นับเป็นความก้าวหน้าและน่ายินดียิ่ง ทว่า ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ละเลยประเด็นความรุนแรงในครอบครัวในกลุ่ม LGBTQ+ เช่นกัน
หลายคู่รัก LGBTQ+ อาจไม่ทันตระหนักว่ากำลังใช้อำนาจเหนือคู่ของตน โดยอาจแสดงออกผ่านการควบคุม ข่มขู่ หรือคุกคามโดยไม่รู้ตัว ซึ่งล้วนสามารถนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวได้เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ชายหญิง
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รับคำปรึกษาจากคู่รัก LGBTQ+ ที่ต้องการยุติความสัมพันธ์ แต่กลับถูกข่มขู่ ทำร้าย หรือควบคุมไม่ให้ไปไหน สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ไม่ว่าเพศใดก็อาจตกอยู่ในสถานะของผู้ถูกกระทำได้ หากอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ดังนั้นเราจึงต้องปกป้องคุ้มครองและขับเคลื่อนไปสู่ประเด็นเหล่านี้ด้วย
ความเหลื่อมล้ำซ้อนทับ : ความท้าทายที่ต้องร่วมกันต่อสู้
นอกจากความรุนแรงในความสัมพันธ์แล้ว LGBTQ+ ยังต้องเผชิญกับ ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ในหลากหลายมิติ เช่น
- ความหลากหลายในอาชีพที่ยังไม่ถูกยอมรับหรือรับรองตามกฎหมาย เช่น Sex Worker
- การเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ เช่น การเข้าถึงฮอร์โมน การแปลงเพศ หรือสวัสดิการเฉพาะทาง
- ปัญหาค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม
- การถูกเอาเปรียบโดยระบบทุนผูกขาด
- ระบบการเมืองที่ยังคงเป็นอำนาจนิยม
- การซ้อนทับของปัญหา เช่น คนชาติพันธุ์ที่เป็น LGBTQ+ และยังเป็น Sex Worker
ทุกปัญหาที่กล่าวมาล้วนจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผู้ที่ได้เปรียบคือกลุ่มทุนผูกขาด การเมืองที่รวมศูนย์และเอาประโยชน์ไปจากคนกลุ่มต่าง ๆ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า LGBTQ+ มีทั้งกลุ่มชนชั้นกลาง คนรวย คนจน กลุ่มแรงงาน ชาติพันธุ์ Sex Worker ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย บางคนก็ต้องการขึ้นค่าแรง หรือต้องการทำงานด้าน Sex Worker อย่างถูกกฎหมาย บางคนต้องการให้แก้ปัญหาภาคเกษตร การถูกแย่งชิงทรัพยากรจากกลุ่มทุนผูกขาด หรือการรับรองสถานภาพในกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ ขับเคลื่อนร่วมกับคนหลายกลุ่ม หลายเป็นประเด็น เพื่อให้กระบวนการของ LGBTQ+ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และแก้ไขปัญหาในทุกมิติ