(เผยแพร่บทความเมื่อ 20 มิถุนายน 2565)
ไม่นานมานี้มีการอ้างอิงถึงผลการศึกษาจากต่างประเทศที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร European Urology เมื่อปี 2016 โดยระบุเนื้อหาทำนองว่า “หากผู้ชายมีเพศสัมพันธ์ 21 ครั้งต่อเดือน จะช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก” สื่อออนไลน์หลายสำนักหยิบยกไปเป็นประเด็น โพสต์ต้นทางจากแพทย์ที่เปิดเผยเรื่องนี้ถูกแชร์ต่อไปหลายร้อยครั้ง ในขณะที่แพทย์บางท่านก็ออกมาให้ความเห็นว่า ผลการศึกษานี้อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนได้ อีกทั้งยังมีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่มีความขัดแย้งกับผลการศึกษานี้
ในขณะที่มุมมองของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ไม่ได้ปฏิเสธหรือโจมตีงานวิจัยทางการแพทย์ แต่ปัญหาคือหากผู้หญิงต้องมารองรับการแก้ไขปัญหาสุขภาพของเพศชาย อาจก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวได้
“เพศสัมพันธ์ที่ผู้ชายกำหนด การที่ผู้หญิงต้องยินยอมเพื่อให้ฝ่ายชายมีสุขภาพดี เป็นความคิดที่เข้าข่ายชายเป็นใหญ่”
การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเป็นเรื่องของความยินยอมพร้อมใจ ไม่ใช่เพื่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และด้วยผู้หญิงในยุคปัจจุบันมีบทบาทหน้าที่ทั้งนอกบ้านและในบ้าน ไม่ต่างจากเพศชาย แค่ทำงานข้างนอกแล้วต้องกลับมาทำงานบ้านก็เป็นภาระที่หนักมากแล้ว การนำเสนองานวิจัยเช่นนี้ออกมาโดยขาดการให้องค์ความรู้อื่นรองรับ เกรงว่าท้ายที่สุดภาระของผู้หญิงจะเพิ่มมากขึ้น และเกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาและกลายเป็นปัญหาครอบครัวได้ในที่สุด
สมาคมแพทย์ รวมถึงแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ควรออกมาให้ข้อมูลที่รอบด้าน เชื่อถือได้ นำเสนอแนวทางการยับยั้งการเกิดโรคที่เป็นไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับความสัมพันธ์ในครอบครัว มากกว่าการเสนอแค่งานรายงานการศึกษาในแง่มุมเดียว
......