(เผยแพร่บทความเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2565)
“อย่านุ่งสั้น อย่าแต่งโป๊ อย่าทำตัวล่อเสือล่อตะเข้” เราน่าจะได้ยินประโยคทำนองนี้ในทุกเทศกาล ประโยคของความห่วงใยที่แฝงด้วยทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ที่ยังสลัดไม่หลุดจากสังคมไทยเสียที “นิสัยผู้ชายก็แบบนี้ ผู้หญิงสิต้องป้องกันตัวเอง” กลายเป็นว่าผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายปกป้องตัวเองไปเสียนี่
เรื่องการแต่งตัวเป็นเรื่องของบุคคลที่เราไม่ควรไปก้าวล่วง ในขณะที่รากของปัญหานี้แท้จริงไม่ได้เกิดจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ แต่เกิดจาก “อำนาจชายเป็นใหญ่” นิทรรศการ Don’t tell me how to dress ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นกว่า การถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องแต่งกาย หลายชุดปกปิดมิดชิด ชุดแม่บ้าน เสื้อยืด กางเกงยีนทั่วไป ชุดที่ใส่ในชีวิตประจำวัน
“อย่าโยนตราบาปนี้ให้กับผู้หญิง” วิธีคิดของสังคมไทยที่มักกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ “แต่งตัวโป๊” “ไม่ระวังตัวเอง” “ดื่มจนเมา” แต่กลับไม่ตั้งคำถามกับ “ผู้กระทำ” ทำให้เมื่อเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิงไม่กล้าออกมาเรียกร้องความถูกต้อง เพราะกลัวสังคมมองว่าเป็นคนไม่ดี หรือถูกด้อยค่า ทั้งที่ความจริงแล้วการแต่งกายคือสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ไม่ใช้ข้ออ้างให้ล่วงละเมิดทางเพศได้
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวไว้ในงานเสวนา “ส่องมายาคติ กระบวนการยุติธรรม กับการคุกคามทางเพศ” เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 65 ว่า “จากงานวิจัยเรื่องเพศวิถีในคำพิพากษากับการลงโทษผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรม สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นให้เห็นจำนวนมาก เพราะอคติยังอยู่ในสังคม และยังมีความเข้าใจแบบถูกฝังหัวมาว่าผู้หญิงถูกข่มขืนเพราะการแต่งกาย ทั้งที่เป็นสิทธิที่ควรได้รับการปกป้อง”
ทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกัน สังคมมองว่าผู้ชายมีนิสัยแบบนี้ ห้ามไม่ได้ เลยโยนให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายปกป้องตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นคือทำให้ผู้ที่ถูกล่วงละเมิด มองว่าตัวเองมีส่วนผิดเพราะแต่งกายล่อแหลม หรือไปในที่เปลี่ยว
ถึงเวลานี้แล้ว เราต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด หยุดส่งต่ออำนาจชายเป็นใหญ่ และหันมาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เลิกกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ เลิกพูดว่าการแต่งกายก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศได้แล้ว