(เผยแพร่บทความเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566)
หลายคนมองว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน แต่ในความเป็นจริงการใช้ชีวิตยังประกอบ เกี่ยวพันกับสังคม และผู้คนต่าง ๆ อีกมากมาย ความรักคือสิ่งที่ทำให้เกิดพลัง เกิดการเกื้อหนุน เกิดสิ่งที่ดี ไม่ใช่การนำไปสู่ความเลวร้ายดังนั้นการจะมองว่าคนรักคือสมบัติของตัวเองนั้นไม่ถูกต้อง เพราะนั่นจะยิ่งนำไปสู่การทำลาย การใช้ความรุนแรง และไม่เกิดอิสรภาพในความรักอย่างที่ควรจะเป็น
ความรักที่ก้าวข้ามเรื่องของเพศ
เมื่อก่อนเราจะได้ยินคำว่ารักไม่มีพรหมแดน ซึ่งหมายถึงความรักที่ไม่มีกำแพงเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม หรือแม้แต่ระยะทางมาขวางกั้น แต่ปัจจุบันความรักก้าวข้ามไปกว่านั้นมาก ความรักก้าวข้ามเรื่องเพศ ไม่ได้ถูกจำกัดว่าคือหญิงหรือชาย ทุกเพศมีสิทธิรักกันได้ แต่สังคมแบบอนุรักษ์นิยมเช่นไทยหรืออีกหลายประเทศ กลับทำให้ความรักหยุดอยู่กับที่ ยังคงวนเวียนอยู่กับเพศชาย เพศหญิง ซึ่งเป็นความคิดที่คับแคบ แม้กระทั่งคนที่กำหนดนโยบาย หรือชนชั้นนำในสังคมก็ยังคงตีกรอบความคิด ความเชื่อแบบเดิม ส่งผลไปถึงความขัดแย้งและการก้าวไม่ทันความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทำให้คนมองความรักในความหมายที่แคบ ซึ่งแน่นอนว่าอีกไม่นานเรื่องเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนแปลงในคนรุ่นต่อไป
ความรักคืออิสรภาพ
ความรักที่อยู่ในกรอบความเป็นหญิง ความเป็นชาย และถูกหล่อหลอมมาด้วยทัศนคติชายเป็นใหญ่ กลายเป็นนิยามของการจำกัดอิสรภาพ เป็นเรื่องของการครอบครอง เธอเป็นของฉัน ฉันเป็นของเธอ ภรรยาเป็นสมบัติของสามี และบ่อยครั้งที่เกิดการหยิบยกนิยามนี้ไปอ้างเพื่อให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง “ที่ทำร้ายลงไม้ลงมือก็เพราะรัก” “เพราะรักจึงหึงหวง” “เพราะรักจึงต้องคอยดูแลใกล้ชิด” จริง ๆ เราต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือความรัก อะไรคือความรุนแรง จะเอาสองเรื่องนี้มาเกี่ยวกันไม่ได้
อย่ามองความรักเป็นเรื่องโรแมนติกเพียงอย่างเดียว
ในชีวิตจริงเราต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย หากเรามองความรักเพียงแง่มุมโรแมนติก แบบสังคมบริโภคนิยมที่มองแต่ความสวยงาม เราจะเห็นเพียงด้านดี จนลืมไปว่าทั้งเขาและเรามีแง่มุมที่ไม่ดีอยู่ เราต้องเข้าใจว่าไม่มีมนุษย์คนใดที่สมบูรณ์แบบ เราต่างมีข้อดี ข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น ทุกความสัมพันธ์จึงต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เอาข้อดี ข้อเสียมาคุย มาปรับกัน ส่วนจะรับข้อเสียของกันและกันได้แค่ไหนเป็นก็อีกเรื่องหนึ่ง ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี และหากความสัมพันธ์ก้าวไปถึงจุดสิ้นสุด เราเรียนรู้การเลิกราด้วยความเข้าใจ ตัดสินใจร่วมกัน ด้วยการเคารพความเป็นมนุษย์ โดยที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใครและที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง