การสื่อสารคือเครื่องมืออันทรงพลัง
การขับเคลื่อนงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลให้ความสำคัญกับการสื่อสารตลอดมา และระหว่างปี 2560-2561 มูลนิธิฯ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานสื่อสารที่ผ่านมาในกระบวนการพัฒนาหลักสูตร “การสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ” (Health Communication for Healthy Society - HCHS) ให้แก่ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
✤ โอกาสดังกล่าว ทำให้มูลนิธิฯ เกิดมุมมองใหม่ต่อเรื่องของ “การสื่อสาร” ว่าเป็นองค์ประกอบที่สอดแทรกอยู่ในการขับเคลื่อนงานของมูลนิธิฯ อย่างแนบแน่นลึกซึ้ง และมีอิทธิพลต่อผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสำคัญยิ่ง และที่สำคัญคือ การสื่อสารในงานสร้างเสริมสุขภาวะ มีเงื่อนไขและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากการสื่อสารทั่วไป
✤ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิฯ จึงเกิดความสนใจในการนำแก่นสาระของหลักสูตร HCHS มาใช้เป็นแนวทางการถอดบทเรียนการสื่อสารในงานสำคัญของมูลนิธิฯ 2 กรณีศึกษา ซึ่งเป็นงานที่มูลนิธิฯ ดำเนินการต่อเนื่อง โดยมีจุดร่วมที่การนำประเด็นลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาเป็น “ตัวเดินเรื่อง” ในการสะท้อนปัญหา “ชายเป็นใหญ่” ที่หยั่งรากลึกซึ้งอยู่ในวิถีชีวิตให้สังคมเกิดความตระหนัก พร้อมกับเรียกร้องผลักดันให้เกิดการแก้ไข อันจะนำไปสู่สังคมที่มีสุขภาวะในทุกระดับ นั่นคือ
- ถอดบทเรียนการสื่อสาร: โครงการโรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก มุ่งที่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับองค์กร กลุ่มขนาดเล็ก และบุคคล ด้วยแนวคิดว่า หากคนในโรงงานสามารถลดละเลิกเหล้าได้แล้ว ผลที่ตามมาก็คือ การลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่มีต่อสตรีและเด็กในบ้าน และเกิดประสิทธิผลทางการผลิต
- การรณรงค์วันสงกรานต์ปลอดการคุกคามทางเพศ มุ่งที่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม โดยเกิดขึ้นมาจากการเห็นปัญหาสตรีถูกลวนลามในช่วงสงกรานต์ ส่วนหนึ่งมาจากจากเหตุของการเมาเหล้า ทำให้มูลนิธิฯ ดำเนินการการรณรงค์ การสร้างเครือข่าย และการผลักดันนโยบายต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ทั้ง 2 กรณีนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นว่า กลยุทธ์การสื่อสารแบบใดที่ถูกนำมาใช้ในแต่ละสถานการณ์ กลยุทธ์ใดที่ให้ผลดี และมีกลยุทธ์ใดที่เป็นทางเลือกที่ดี แต่ยังถูกมองข้าม
ขณะเดียวกันมีเงื่อนไขร่วมที่นักขับเคลื่อนพึงตระหนัก เพราะต่างก็ต้องสู้กับ “แรงฝืดแรงต้าน” จากสิ่งที่มีฤทธิ์เสพติด อีกทั้งยังถูกสร้างมายาคติที่สนับสนุนระบบคิด “ชายเป็นใหญ่” มาอย่างยาวนาน และด้วยการทุ่มทุนของอุตสาหกรรมที่มีกำลังทุนอย่างมหาศาล
ทำไม “การสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ” จึงแตกต่างจากการสื่อสารทั่วไป
“การสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ” เป็นความรู้เฉพาะแวดวง เนื่องจากเป้าหมายและบริบทของการสื่อสารในข่ายงานนี้มีความแตกต่างจากการสื่อสารโดยทั่วไป จนไม่อาจหยิบยืมความรู้จากหลักสูตรการสื่อสารที่สอนกันอยู่มาใช้ “ตอบโจทย์” การทำงานได้ทั้งหมด เนื่องจาก
- เนื้อหาสารที่ต้องการสื่อสารเป็นเรื่อง “สุขภาพ” หรือ “สุขภาวะ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้จักและคิดว่า “รู้” อยู่แล้ว ทั้งที่อาจไม่รู้แน่ชัด รู้แบบผิด ๆ ไปจนถึงไม่เคยรู้เลยแต่คิดว่ารู้
- ต้องมีการวางแผน การที่จะทำให้คนเปิดหู เปิดตา และเปิดใจ รับสารที่คิดว่า “รู้อยู่แล้ว” ยากกว่าการสื่อสารเรื่องทั่วไป หรือเรื่องราวที่เป็นความรู้ใหม่ ๆ การวางแผนและสื่อสารแบบมีกลยุทธ์จึงมีบทบาทสำคัญมากในการสื่อสารลักษณะนี้
- เป็นการสื่อสารที่หวังผลปลายทางระดับ “สร้างความเปลี่ยนแปลง” จึงไม่ใช่แค่ “บอกให้รู้”
- อาศัยการสื่อสารหลายระดับรับส่งเสริมหนุนกัน ตั้งแต่ระดับในตัวคน คู่สนทนา ครอบครัว กลุ่มย่อย ชุมชน เครือข่าย ไปจนถึงสังคมทั้งหมด เพื่อให้เกิดปัจจัยเกื้อหนุนการเปลี่ยนแปลงจนถึงระดับพฤติกรรม
- เป็นการสื่อสารที่มักมี “ฝ่ายตรงข้าม” เพราะหวังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสู่สุขภาวะจึงต้องนำพากลุ่มเป้าหมายให้พ้นไปจากสิ่งที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งอาจเป็นความเชื่อ ค่านิยม พฤติกรรมเคยชิน ที่นำไปสู่ “ทุกขภาวะ” และมีเรื่องของการ “เสียประโยชน์ที่เคยได้” เช่น ผลกำไร ความสบายกาย สบายใจ ฯลฯ