แชร์

ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
454 ผู้เข้าชม

ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กมีปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในสังคมไทย แต่ที่ผ่านมาคนในสังคมมักมองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเรื่องภายในครอบครัว ทัศนคติเช่นนี้ส่งผลให้ผู้หญิงและเด็กจำนวนมากต้องแบกรับปัญหานี้ไว้โดยลำพัง และยากจะหาทางออกจากวงจรได้

ทั้งนี้ ในปี 2545 มูลนิธิเพื่อนหญิง และ สสส. ได้ดำเนินงานวิจัยร่วมกับเครือข่ายผู้หญิง 4 พื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบข้อมูลสำคัญว่าการดื่มสุราเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยผู้ชาย ร้อยละ 70-80 ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีประสบการณ์ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก และเบื้องหลังของปัญหาความรุนแรงยังมีรากเหง้ามาจากค่านิยมสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ที่เชื่อว่า “ผู้ชายเป็น ผู้นำครอบครัว สามีเป็นเจ้าของชีวิตภรรยา ดังนั้นจึงมีสิทธิดุด่าทุบตีทำร้ายหรือแม้แต่บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ก็ย่อมทำได้” ในสภาพเช่นนี้ ฝ่ายภรรยาต้องยอมจำนนเพราะเรื่องภายในครอบครัวถูกจัดวางให้เป็นเรื่องส่วนตัว โดยที่กลไกของรัฐ หรือแม้แต่ญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิด ก็ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือ

หลังจากที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2554  โดยสมาชิกรุ่นก่อตั้งมูลนิธิฯ หลายคน เป็นแกนนำของมูลนิธิเพื่อนหญิงมาก่อน ที่นี่จึงสานต่อภารกิจในการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง เนื่องจากปัญหายังคงดำเนินมาโดยไม่มีแนวโน้มลดลง และยังคงให้ความสำคัญกับภารกิจนี้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง อยู่ในความรับผิดชอบของ ฝ่ายส่งเสริม ความเสมอภาคระหว่างเพศมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โดยมีเป้าหมายหลักในการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งให้ได้รับสวัสดิภาพจากปัญหาเฉพาะหน้า ควบคู่ไปพร้อมกับกระบวนการ “เสริมพลังปัจเจก” เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทั้งหญิงและชายที่ผ่านพ้นปัญหา พัฒนาศักยภาพภายในตนจนสามารถเป็น ต้นแบบและแกนนำอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปได้

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลในการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรง ได้ทำให้เห็นภาพรวมหรือสถานการณ์ปัญหาจริง ๆ ของความรุนแรงทางเพศหรือความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วนำเอาเทคนิควิธีการกระบวนการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือรวมไปถึงผู้ประสบปัญหาตัวจริงเสียงจริงมาทำการสื่อสารสาธารณะ จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายหรือการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ โดยสามารถแบ่งช่วงเวลาในการขับเคลื่อนงานออกได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะแรก (ช่วงต้นของการก่อตั้งมูลนิธิฯ) เน้นไปในทางสงเคราะห์ และใช้กฎหมายเป็นตัวนำในการดำเนินการช่วยเหลือ โดยมีทนายความเข้ามานั่งประจำในสำนักงานมูลนิธิฯ ทุกวัน เป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการดูแลเรื่องคดีความ และมีอาสาสมัครสังคมสงเคราะห์เข้ามานั่งให้คำปรึกษาทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ข้อดีของการทำงานด้วยวิธีนี้คือทำให้ผู้ประสบปัญหาที่เข้ามาร้องเรียนได้พูดคุยกับทนายโดยตรง แต่จุดอ่อนคือกลุ่มผู้ประสบปัญหาเหล่านี้มีความเปราะบาง จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษาในการพูดคุย

ระยะที่สอง (ปี 2556-ปัจจุบัน) ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานไปสู่การยึดเอาตัวผู้ประสบปัญหาเป็นศูนย์กลาง สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวผู้ประสบปัญหาเอง บนหลักการเคารพศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์และเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตนเอง มีการทำงานทั้งในส่วนของการช่วยเหลือฟื้นฟู และเสริมพลังอำนาจ จากที่เคยมีทนายความ อาสาสมัครสังคมสงเคราะห์ มานั่งเวรกันในสำนักงานก็เปลี่ยนมาเป็นให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ

ขั้นตอนและกระบวนการให้ความช่วยเหลือ

เมื่อมีผู้ประสบปัญหาร้องเรียนเข้ามาก็จะได้คุยกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประเมินว่าในแต่ละกรณีสมควรจะได้รับการให้คำปรึกษาด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่เช่นด้านกฎหมายหรือการประสานหน่วยงาน/องค์กรอื่น ๆ เข้ามาสนับสนุนในการให้ความช่วยเหลือช่องทางที่ผู้ประสบปัญหาติดต่อร้องเรียนเข้า มาก็จะมีทั้งการ Walk in, โทรศัพท์, ติดต่อผ่านเพจเฟซบุ๊กของมูลนิธิฯ ซึ่งปัจจุบันมีมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงคนที่ได้รับการส่งต่อมาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ

ด้านกระบวนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา เมื่อรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประสบปัญหาแล้วเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะมีการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาปัญหาและข้อเท็จจริง ทั้งจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การเชิญให้เข้ามาพูดคุยหารือร่วมกันที่มูลนิธิฯ การตรวจสอบหลักฐานเอกสารต่าง ๆ และการลงเยี่ยมบ้าน หลังจากนั้นจึงจะประเมินปัญหาจากข้อมูลทั้งหมดแล้ววางแผนให้ความช่วยเหลือ โดยหารือร่วมกันกับผู้ประสบปัญหา ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำตามหลักความเป็นจริง ว่าอะไรที่สามารถทำได้และสอดคล้องกับความต้องการผู้ประสบปัญหา แล้วจึงค่อยดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้ ไปจนถึงขั้นของการสรุปและติดตามผล

ในขั้นดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา ทางมูลนิธิฯ มีการทำงานอยู่สองด้านหลัก ๆ คือ 1. ด้านการช่วยเหลือฟื้นฟูและเสริมพลังอำนาจ และ 2. ด้านคดีความ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ด้านการช่วยเหลือฟื้นฟูและเสริมพลังอำนาจ การดำเนินงานในด้านนี้ ได้แก่

  • การให้คำปรึกษา โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ เป็นแกนหลักในการให้คำปรึกษาเรื่องต่าง ๆ กับผู้ที่ประสบปัญหา ซึ่งจะให้ผู้ประสบปัญหาเป็นศูนย์กลางว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร ต้องการที่จะดำเนินการอย่างไร ส่วนเจ้าหน้าที่จะมีบทบาทในการให้ทางเลือกและสนับสนุนในการดำเนินการ ให้ผู้ประสบปัญหาเห็นภาพว่าการตัดสินใจเลือกของเขาในแต่ละทางนั้น มันจะเป็นอย่างไร
  • การเจรจา/ไกล่เกลี่ย ในกรณีที่ผู้ประสบปัญหาไม่ต้องการดำเนินคดี เพราะคำว่า “ความรุนแรงทางเพศ” หรือ “ความรุนแรงในครอบครัว” เป็นปัญหาที่ค่อนข้างมีความเปราะบางและมักจะมีเรื่องของความสัมพันธ์ ความรู้สึกต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจากเดิมที่ใช้กฎหมายเป็นตัวนำจึงใช้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะบางรายไม่ต้องการทำเรื่องคดีความ แต่ต้องการคนที่เป็นตัวกลางในการสนับสนุนหรือเจรจาไกล่เกลี่ยหารือร่วมกัน และหาทางออกว่าจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมูลนิธิฯ ก็สามารถเป็นตัวกลางในการดำเนินการในส่วนนี้ได้
  • กิจกรรมกลุ่มสนับสนุน (Group support) หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นกิจกรรมที่จัดให้มีการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน ได้มาแลกเปลี่ยนแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กำลังใจและเยียวยาซึ่งกันและกัน ซึ่งในกลุ่มนี้ก็จะมีทั้งกลุ่มคนที่สามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้แล้ว หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพิ่งจะมีปัญหาสด ๆ ร้อน ๆ เขาก็จะเกิดการเรียนรู้กันเองโดยที่ไม่ได้มีคนอื่นแทรกแซง
  • การประชุมปรึกษารายกรณี (Case conference) เป็นการรวมตัวกันขององค์กร/หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทภารกิจหรือการช่วยเหลือหลากหลายและแตกต่างกัน เช่น ตำรวจ แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้นำชุมชน โดยจะดูที่ความเหมาะสมของผู้ประสบปัญหาแต่ละราย ว่าจะให้วิชาชีพใดเข้ามาร่วมประชุมหารือเพื่อวางแผนในการช่วยเหลือร่วมกันอย่างรอบด้าน
  • การประสานและส่งต่อ การให้ความช่วยเหลือในบางเรื่องทางมูลนิธิฯ เองก็มีข้อจำกัดที่ไม่อาจรองรับหรือช่วยเหลือได้ เช่น เรื่องการเยียวยาสภาพจิตใจแบบเชิงลึก เรื่องที่พัก เรื่องเงินสงเคราะห์ เป็นต้น จึงอาจจะต้องมีการประสานส่งต่อไปยังนักจิตวิทยา โรงพยาบาล บ้านพักเด็กหรือบ้านพักฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งก็อยู่ที่การประเมินผู้ประสบปัญหาแต่ละรายว่ามีความต้องการอย่างไรบ้าง

2. ด้านคดีความ มีการดำเนินงานส่วนต่าง ๆ ได้แก่

  • การจัดหาทนายความ ทางมูลนิธิฯ จะมีเครือข่ายทนายความที่ทำงานร่วมกันมานานตั้งแต่ยุคแรก รวมทั้งทนายความจากมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว และนักกฎหมายอื่น ๆ เข้ามาให้การสนับสนุนช่วยเหลือ
  • การดำเนินคดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะมีส่วนช่วยเหลือตั้งแต่ในระดับชั้นสอบสวน การเตรียมความพร้อม ว่าผู้ประสบปัญหาจะต้องเจอกับอะไรบ้างในการตัดสินใจดำเนินคดี จะต้องเตรียมตัวอย่างไร และจะไปสิ้นสุดตรงไหน เพื่อให้เขามีความพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการเข้าไปช่วยทำความเข้าใจหรือหาทางออก ในกรณีที่เกิดปัญหาไม่เข้าใจกันกับพนักงานสอบสวน
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี บางกรณีจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี มีค่าจ้างทนาย ผู้ประสบปัญหาที่มีศักยภาพพอที่จะจ่ายเองได้ก็ให้จ่ายเอง แต่ถ้าขาดแคลนทางมูลนิธิฯ ก็จะมีงบประมาณอยู่จำนวนหนึ่งที่ผู้ประสบปัญหาสามารถขอความอนุเคราะห์ได้ ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน
  • การคุ้มครองสวัสดิภาพ ในส่วนนี้เป็นการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่ระบุไว้ว่าผู้ประสบปัญหาสามารถไปขออำนาจจากศาลเยาวชนและครอบครัว ในการออกคำสั่งให้มีวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพแก่ผู้ประสบปัญหา เช่น ห้ามไม่ให้ผู้กระทำเข้าใกล้ในระยะ 50 เมตร ให้ผู้กระทำย้ายออกจากบ้าน ให้ผู้กระทำไปบำบัดรักษาทางจิตเวชหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่ไปกับการดำเนินคดีทางอาญา
  • ดำเนินการอื่น ๆ เช่น การยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่เกิดปัญหาบางอย่างทำให้คดีความไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ เช่นที่ผ่านมาก็มีกรณีของเด็กผู้พิการเกิด ความผิดพลาดในชั้นพนักงานสอบสวน ที่ทำให้คดีความไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ มูลนิธิฯ ก็มีการไปยื่นหนังสือจนสามารถที่จะนำคดีความกลับเข้ามาสู่กระบวนการตามปกติได้
 ......
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พบว่า ผู้ประสบปัญหาหลายรายได้รับความช่วยเหลือ สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ รวมถึงได้รับองค์ความรู้วิธีคิดวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนและ ตัดสินใจดำเนินการเพื่อหาทางออกเมื่อต้องเจอปัญหาอีกในอนาคต และผู้ที่ผ่านพ้นปัญหามาแล้วหลายราย สามารถดึงศักยภาพตนเองออกมาช่วยเหลือผู้อื่นต่อได้ กลายเป็นผู้มีบทบาทในการสื่อสารกับสังคม

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy