การพัฒนาแกนนำ
การทำงานชุมชนเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่ต้องมีการสร้างแกนนำและพัฒนาศักยภาพแกนนำ โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติการอบรมการเยียวยาภายใน การฟังจนสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาและจัดการกับปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยการสนับสนุนให้เกิดกลไกการคุ้มครองภายในชุมชน
การพัฒนาแกนนำในชุมชนเป็นสิ่งที่มูลนิธิให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงการสร้าง แนวร่วมการทำงานเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ โดยคนในชุมชนที่มีความ เข้าใจลักษณะผู้คนสภาพแวดล้อมภายในชุมชนของตนเองเป็นอย่างดี และสามารถสานต่อการทำงานให้มีความต่อเนื่องยั่งยืน
คำว่า “แกนนำ” ในความหมายของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลคือ ภาวะการนำที่มาจากฐานความเชื่อว่า ทุกคนล้วนมีศักยภาพและสามารถพัฒนาได้ ดังนั้น ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นแกนนำได้ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ผู้ถูกกระทำ” หรือ “ผู้กระทำ” ความรุนแรง เมื่อได้รับการช่วยเหลือให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาที่ประสบ จนผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากมาได้แล้ว ก็สามารถพัฒนาและยกระดับตนเองให้กลายเป็นแกนนำในการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศรายอื่น ๆ ได้เช่นกัน ความหมายใหม่ให้แก่สังคม
✤ จรีย์ ศรีสวัสดิ์ (หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย) หนึ่งในแกนนำของมูลนิธิฯ ได้แบ่งปันมุมมองและกระบวนการในการทำงานเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
“การทำงานลดเหล้าลดความรุนแรง ฐานคิดต้องสัมผัสความเป็นมนุษย์ การพัฒนาแกนนำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้นำที่เป็นทางการที่สนใจประเด็นเหล้า กลุ่มผู้นำตามธรรมชาติ หรือกลุ่มอาสาสมัคร เราก็ต้องสนับสนุนและพัฒนาให้เขามีความคิดความเชื่อเรื่องนี้ด้วย”
“Input สำคัญคือเรื่องความเท่าเทียมกัน ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน เห็นปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ พาไปศึกษาดูงาน เชิญมาร่วมกิจกรรมรณรงค์... ต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย จนเขาเข้าใจวิธีคิดและอินกับเรื่องนี้ เวลากลับเข้าไปในพื้นที่ แกนนำเหล่านี้ก็จะนำประสบการณ์ มุมมอง ที่ได้จากมูลนิธิ ไปทำงานต่อกับเคสหรือแกนนำรุ่นใหม่”