สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สชพ.) องค์กรชุมชนเพื่อจัดการปัญหาและพึ่งพาตนเอง
สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สพช.) ตั้งอยู่ในชุมชนคนไทยเกรียง ถนนพระประแดง-สุขสวัสดิ์ ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2553 โดยกลุ่มแกนนำแรงงานหญิงไทยเกรียง เป็นองค์กรชุมชนที่ปรับตัวมาจาก สหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิของกรรมกรแรงงานมายาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนกระทั่งโรงงานไทยเกรียงได้ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2549
เส้นทางการก่อเกิดองค์กรชุมชน สชพ. เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่คนงานไทยเกรียง 390 คนและคณะกรรมการสหภาพฯ ทั้งคณะ 17 คนถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมในปี พ.ศ. 2543 แต่ยังคงรวมกลุ่มกันอาศัยอยู่รอบโรงงานในบริเวณ 2 พื้นที่ของชุมชนเดิม
ในช่วงเวลาที่ก้าวออกจากโรงงานมาใช้ชีวิตในชุมชน ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของกลุ่มแกนนำสหภาพฯ ว่าจะยังคงยืนหยัดใช้ชีวิตต่อไปในชุมชนแห่งนี้หรือจะแยกย้ายกระจัดกระจายกันไป เพราะถึงแม้จะอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มานาน แต่ระบบอุตสาหกรรมได้ทำให้พวกเขาไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า จริงๆ แล้วคนในชุมชนนั้นมีมิติชีวิตอย่างไร ที่ผ่านมาขบวนการสหภาพแรงงานก็ทำงานเฉพาะเรื่องสิทธิแรงงานภายในรั้วโรงงานเท่านั้น ไม่สามารถเชื่อมโยงตัวคนงานกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ เมื่อถึงคราวที่ต้องออกมาใช้ชีวิตนอกโรงงานจึงออกอาการ “ไปไม่เป็น” แต่ท้ายที่สุดแล้ว แกนนำแรงงานหญิงกลุ่มหนึ่งก็ตัดสินใจที่จะอยู่ต่อโดยค่อยๆ ปรับตัวและเรียนรู้ชีวิตนอกรั้วโรงงาน
จังหวะนี้เองที่ มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือสนับสนุน โดยวางบทบาทเป็น “พี่เลี้ยง” เพื่อนำทางเชิงยุทธศาสตร์ คอยให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตลอดจนให้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานกับชุมชน ทำให้กลุ่มแกนนำแรงงานหญิงไทยเกรียงเห็นว่า การจะแก้ปัญหาให้คนงานไทยเกรียงและคนในชุมชนนั้น จะต้องทำในหลายๆ มิติ ไม่ใช่เพียงเรื่องของสิทธิแรงงานเท่านั้น ในขณะเดียวกันมูลนิธิฯ เองก็ได้เรียนรู้และค่อย ๆ เติบโตไปพร้อมกัน เพราะที่ผ่านมาทีมงานมูลนิธิฯ ก็ยังไม่มีประสบการณ์การทำงานกับชุมชนมาก่อน
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมาแรงงานหญิงไทยเกรียงได้พยายามรวมกลุ่มเพื่อพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเพื่อนที่ตกงานด้วยกัน โดยเริ่มจากการตั้ง ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนตกงาน ตามมาด้วยการตั้ง กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนคนไทยเกรียง ที่สำคัญคือตั้ง “ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์” ของคนในชุมชนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานกับชุมชน และเชื่อมโยงไปสู่การทำงานกับมูลนิธิเพื่อนหญิงในเวลาต่อมาคือในปี พ.ศ. 2545 เมื่อมูลนิธิเพื่อนหญิงได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” โดยมีชุมชนคนไทยเกรียงเป็น 1 ใน 4 พื้นที่เป้าหมาย ทำให้เห็นว่า “เหล้า” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวของคนงานและชุมชน
ปี พ.ศ. 2547 กลุ่มแรงงานหญิงไทยเกรียงจึงได้เข้าร่วม “โครงการลด ละ เลิกเหล้า : ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก” โดยการสนับสนุนของ สสส.ผ่านทางมูลนิธิเพื่อนหญิง และจัดตั้ง ศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กชุมชนไทยเกรียง ขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนงานโดยใช้ประเด็นเรื่อง “เหล้าและความรุนแรง” เป็นตัวเบิกทางเข้าไปทำงานกับชุมชน
✤ การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กชุมชนไทยเกรียง มูลนิธิเพื่อนหญิงได้ใช้กระบวนการสร้างกลุ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นการปูพื้นฐานสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องความรุนแรง ปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญอยู่ และบทบาทหญิงชาย ทั้งนี้มูลนิธิฯ ได้อาศัยความรู้ในการจัดตั้งกลุ่ม (organize) และเสริมสร้างในด้านแนวคิดสิทธิสตรี โดยใช้กระบวนการคือ
- จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์
- จัดอบรมและให้การศึกษาในประเด็นบทบาทหญิงชาย
- วางแผนและจัดรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
- จัดทำกลุ่มสนับสนุน (group support) และ
- จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก
ยุทธศาสตร์สำคัญคือ “การทำงานกับครอบครัว” โดยเริ่มจากการทำงานเชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนก่อนคือ คนงานชายไทยเกรียงที่มีปัญหาเรื่องติดเหล้า ชอบทำร้ายลูกและภรรยา ผ่านกิจกรรม “ค่ายครอบครัว” จนเกิดบุคคลต้นแบบเลิกเหล้าและครอบครัวต้นแบบ แล้วจึงขยายไปสู่กลุ่มคนอื่นๆ ในชุมชนที่ไม่ใช่คนงานไทยเกรียง ถือเป็นจุดแข็งในการเริ่มงานกับชุมชน เพราะในขณะนั้นภาพของคนงานไทยเกรียงยังถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ชอบประท้วง การจะทำให้คนในชุมชนยอมรับกลไกของคนไทยเกรียงได้จึงต้องเริ่มจากคนของไทยเกรียงก่อน
เมื่อสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ได้ จึงทำให้คนในชุมชนเริ่มเข้าใจและเกิดการยอมรับว่าปัญหาเรื่องเหล้าและความรุนแรงเป็นปัญหาสังคมในชุมชนนั้น ที่ทำให้คนในชุมชนเดือดร้อนและได้รับผลกระทบด้วย ในที่สุดก็สามารถสร้างแนวร่วมจากคนในชุมชนได้และขยายผลไปสู่การทำงานมิติอื่น ๆ ตามมา กระทั่งสามารถก่อตั้ง “สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา” ขึ้นมาได้ในปี พ.ศ. 2553
ในปี 2560 สพช. มีสมาชิกจำนวน 118 คน มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทุกคนในชุมชนสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ทั้งหมด เป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างจากการเป็นสหภาพแรงงานทั่วไป โดยเปิดกว้างรองรับสมาชิกได้อย่างหลากหลาย ไม่มีข้อจำกัด และไปพ้นจากการทำงานในกรอบของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์
✤ การเกิดขึ้นของ สชพ. เป็นการปรับตัวขององค์กรแรงงานที่มิได้ทำแค่ประเด็นปัญหาแรงงานเท่านั้น แต่มีเรื่องมิติอื่น ๆ ของชุมชนด้วย โดยเชื่อมโยงกับองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวจาก “สหภาพแรงงาน” เป็น “สหภาพชุมชน” ที่มีการทำงานในหลากหลายมิติ ได้แก่
- การรับเรื่องราวร้องทุกข์
- การออมทรัพย์
- การลด ละ เลิกเหล้าและบุหรี่
- แรงงานนอกระบบ
- เกษตรอินทรีย์ในเมือง
สชพ. มีบทบาทชัดเจนในฐานะ “องค์กรชุมชน” ที่สามารถเป็นตัวแทนชาวบ้านได้ในการเรียกร้องหรือปกป้องสิทธิต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และเป็นการแสดงเจตจำนงของคนในชุมชนที่จะลุกขึ้นมาจัดการปัญหาและพึ่งพาตนเอง ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน คนด้อยโอกาส การคลี่คลายปัญหาเรื่องเหล้าที่นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน และจัดการปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมไปถึงการริเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ในเมืองโดยกลุ่มผู้ชายเลิกเหล้า ซึ่งระยะหลังได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนงานของ สชพ. ร่วมกับกลุ่มแกนนำแรงงานหญิงไทยเกรียง
✤ บทบาทการทำงานของ สชพ. สะท้อนให้เห็นว่าการมีองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งเป็นคำตอบหนึ่งสำหรับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนในยุคสมัยปัจจุบันคือ
- สามารถช่วยเหลือ แนะนำและหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกันในชุมชนได้
- เป็นตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชน
- เกิดพลังกลุ่มเพื่อเฝ้าระวังปัญหาและปกป้องสิทธิของคนในชุมชน
- เป็นส่วนหนึ่งของพลังมวลชนในการแสดงความเห็นเชิงนโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น การออกกฎหมาย
- กระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงสิทธิและบทบาทของตนเองในฐานะพลเมืองที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนสังคม
- การมีทุนเดิมจากการทำงานสหภาพแรงงาน คือ รู้เทคนิควิธีเจรจาเพื่อเรียกร้อง ไกล่เกลี่ยหรือยุติปัญหา มีความกล้าที่จะรับมือกับปัญหาและกล้าเข้าหาผู้ที่มีสิทธิอำนาจในหน่วยงานของรัฐ และมีเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่เคยร่วมต่อสู้ด้วยกันมา ซึ่งพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ
- ทีมงานมีความผูกพัน รักใคร่กลมเกลียวดุจพี่น้อง
- มีความอดทนต่อแรงเสียดทานรอบด้าน และอดทนที่จะรอคอยความสำเร็จ
- การยึดมั่นในอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ไม่หวั่นไหวต่อสินจ้างรางวัล
- ได้รับการหนุนเสริมจากองค์กรพัฒนาเอกชนในด้านองค์ความรู้และการวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน ระยะแรกคือ มูลนิธิเพื่อนหญิง และต่อมาเป็น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
คุณอรุณี ศรีโต แกนนำผู้ร่วมก่อตั้ง สพช. ได้สรุป “กุญแจ 3 ดอกสู่ความสำเร็จ” ของการจัดตั้งองค์กรชุมชนแห่งนี้ไว้ดังนี้
คุณลักษณะของคนทำงานต้องมีความมานะอดทน ตั้งใจจริง ขยันและกล้าหาญ
“ตอนทำงานเรื่องเหล้ากับชุมชนใหม่ๆ โดนว่าสารพัด บางคนบอกว่าให้เราไปเผาโรงงานที่ผลิตโน่น ให้เขาเลิกขายไปเลย เราก็ต้องใจเย็นๆ ทนแรงเสียดทานให้ได้ บางคนเขาก็ไม่คุยด้วย เราก็เทียวไปเยี่ยมเยียน ซื้อส้มไปสองกิโลกับกล้วยหวีหนึ่ง ไปสร้างความคุ้นเคย คุยเรื่องอื่นไปก่อน ดังนั้นต้องขยัน มีความมานะอดทนและกล้าหาญ ถ้าไม่มีความกล้าหาญแค่เจอเขาว่าหนเดียวก็เลิกแล้ว”
วิธีการทำงานต้องเป็นกันเองกับชาวบ้าน
“ต้องทำงานด้วยความเป็นกันเองกับชาวบ้าน เราจะฝึกให้ทีมทำงานต้อนรับชาวบ้านดีๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส บางเคสถ้าเขาหายไปเราก็ต้องลงไปหาถึงบ้าน ทำงานแบบติดดินเหมือนชาวบ้านเลย คุยให้รู้ว่าเราเป็นเพื่อนเขา”
ต้องรวมกลุ่มกันให้ได้และขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง
“ต้องมีการจัดตั้งคือรวมกลุ่มกันให้ได้เพื่อสร้างพลังอำนาจในการต่อรอง เราจะมีพลังหรือไม่มีพลังมันอยู่ที่กลุ่ม แล้วการทำงานอย่างต่อเนื่องจะทำให้องค์กรยั่งยืน ไม่มีวันเลิก ไม่ขึ้นกับงบประมาณ อย่างไทยเกรียงแม้อยู่ในช่วงที่ของบประมาณยังไม่ผ่านเราก็มีกิจกรรมทำตลอด ขอแค่ทำงานอย่างมีความสุขมันก็ไปได้”
สรุปลำดับเหตุการณ์สำคัญ
ก่อนปี 2545 | ปี 2545-2546 | ปี 2547-2552 | ปี 2553-2556 | ปี 2557-2560 |
|
|
|
|
|