การรณรงค์วันสงกรานต์ปลอดการคุกคามทางเพศ
จากสถิติของ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2547 พบว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีปัญหาการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงมากกว่า 5 แสนราย ทั่วประเทศ และจากข้อมูลของ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) ในปี 2555 โดยการสำรวจประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 900 ราย พบว่า เคยเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ร้อยละ 8.89 ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อีกทั้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอีกด้วย
✤ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งทำงานเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เล็งเห็นว่าปัญหาการคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นภาพสะท้อนหนึ่งขอัีงสังคมไทยที่ถูกปลูกฝังทัศนคติแบบ “ชายเป็นใหญ่” ซึ่งเป็นระบบคิดที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศหญิงชายในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ประกอบกับสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากความมึนเมาหรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดที่พูดถึงประเด็นนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุและ “เมาไม่ขับ”
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา มูลนิธิฯ จึงออกมาเป็นแกนนำ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งองค์กรภาคเอกชน และ ภาครัฐ จัดกิจกรรมรณรงค์วันสงกรานต์ปลอดการคุกคามทางเพศ เพื่อสื่อสารกับคนในสังคมและหน่วยงานภาครัฐให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และร่วมมือกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเล่นน้ำสงกรานต์ (ปลอดเหล้า การลวนลาม และความรุนแรง)
กิจกรรมรณรงค์วันสงกรานต์ปลอดการคุกคามทางเพศ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีการปรับกลยุทธ์การสื่อสารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละปี และได้สร้างผลกระทบต่อสังคมกว้างไกลมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ จึงนับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่งในเรื่องของการใช้การสื่อสารเพื่อเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนสังคมสู่สุขภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
✤ ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวมถึงการรณรงค์วันสงกรานต์ปลอดการคุกคามทางเพศ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานมูลนิธิฯ นำโดย คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กับภาคีเครือข่ายหลัก 2 กลุ่ม ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ได้แก่ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) และ เครือข่ายเยาวชนป้องกันหน้าดื่มหน้าใหม่
ภาคีเครือข่ายทั้งสองได้เข้ามาช่วยระดมความคิดเพื่อวางแผนและออกแบบกิจกรรมรณรงค์ เนื่องจากแกนนำ ครปอ. คือ คุณชูวิทย์ จันทรส และทีมงานมีทักษะและประสบการณ์ในการขับเคลื่อนกิจกรรมรณรงค์เช่นเดียวกันกับ เครือข่ายเยาวชนฯ ก็สามารถระดมกำลังคนมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น การสำรวจข้อมูล การจัดขบวนรณรงค์ฯลฯ มูลนิธิฯ จึงใช้วิธีทำงานร่วมกันในลักษณะนี้เรื่อยมา
✤ การจัดกิจกรมรณรงค์วันสงกรานต์ปลอดการคุกคามทางเพศ เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556 โดยการสนับสนุนจาก สสส.
ในช่วงริเริ่มครั้งนั้นยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโดยตรงเข้ามาร่วม กระทั่งปีต่อ ๆ มาจึงได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังหน่วยงานรัฐรวมถึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ โดยอาศัยการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการประเมินสถานการณ์ สรุปบทเรียน และนำมาปรับปรุงวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละปี
ช่วงเวลา (พ.ศ.) | ชื่อแคมเปญ | กลุ่มเป้าหมายที่เน้นในปีนั้น |
2556 | สาดไม่แต๊ะอั๋ง แมนโคตรๆ | กลุ่มวัยรุ่นชายที่เล่นน้ำในช่วงสงกรานต์ |
2557-2558 | 2 ปีนี้ไม่มีการจัดแคมเปญ เนื่องมีปัญหาทางการเมืองห้ามการชุมนุม | |
2559 | แฮปปี้สงกรานต์ ไม่มีเหล้า ไม่ลวนลาม ไม่รุนแรง | กลุ่มวัยรุ่นชายที่เล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ |
2560 | สุขสงกรานต์ งดสุรา หยุดคุกคามทางเพศ | กลุ่มผู้ชายและผู้หญิงที่เล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ |
2561 | สงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย ไม่ลวนลาม | กลุ่มผู้ชายและผู้หญิงที่เล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ |
2562 | สงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ | กลุ่มผู้ชายและผู้หญิงที่เล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ |
ผลที่เกิดขึ้น สะท้อนผ่านความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน ที่กว้างไกลออกไปเป็นลำดับ ได้แก่ ความสนใจจากสังคม โดยสะท้อนผ่านปฏิกิริยาของสื่อมวลชน การมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยการนำสถานการณ์ปัญหาไปเผยแพร่ และ การมีส่วนร่วมจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในฐานะ “เจ้าภาพ” ร่วม
ผลระดับที่ 1 ความสนใจจากสังคม ประชาชนได้รับรู้ปัญหาการคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากขึ้น โดยทีมงานสังเกตจากการมีสื่อมวลชนให้ความสนใจทำข่าว ทั้งเวลามีการจัดแถลงข่าวหรือกิจกรรมต่างๆ และการติดต่อขอข้อมูลกับทีมงานก่อนวันสงกรานต์มีการเผยแพร่ข่าวสารกิจกรรมรณรงค์ผ่านสื่อหลากหลายช่องทาง ทั้งสื่อกระแสหลัก (โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์) และสื่อสังคมออนไลน์
ผลระดับที่ 2 ความสนใจจากประชาชน เริ่มมีคนเกิดความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่าไม่ควรปล่อยให้เรื่องปกติธรรมดา เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ ปี 2562 มีผู้พบเห็นเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นชายแสดงพฤติกรรมลวนลามผู้หญิงที่ไปเล่นน้ำสงกรานต์อย่างโจ่งแจ้ง และสามารถบันทึกภาพไว้ได้ เมื่อนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม และนำไปสู่การสืบสวนติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจจนกระทั่งรู้ตัวผู้กระทำผิดและจับกุมมาดำเนินคดีได้ในที่สุด
ผลระดับที่ 3 การมีส่วนร่วมจากหน่วยงานทุกภาคส่วน เริ่มขยายเครือข่าย จากเดิม คือ ครปอ. และเครือข่ายเยาวชน สู่ celebrity และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น อันได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือหามาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในช่วงวันสงกรานต์ รวมถึงในขั้นสูงสุดคือ การร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมรณรงค์ (พม.)