share

โครงการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

Last updated: 13 Jun 2024
158 Views
โครงการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

โครงการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ภายใต้แผนงานลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแผนงาน 3 ปี (พ.ศ. 2557-2560) เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคี 4 องค์กร ได้แก่ (1) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (2) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือ ขสมก.  (3) แผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา และ (4) แผนงานลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและเพื่อให้พนักงาน ขสมก. มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ให้การบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้ ขสมก. เป็นองค์กรตัวอย่างในการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานในองค์กร

✤ บทบาทของมูลนิธิฯ คือเข้าไปวางแผนและพัฒนาโครงการร่วมกับองค์กรที่ทำงานร่วมกัน โดยเป็นการดำเนินงานเชิงลึกในเขตการเดินรถนำร่อง 2 เขต และลงพื้นที่เก็บข้อมูลในเขตตัวอย่างการเดินรถ 8 เขต รูปแบบกิจกรรมที่ทำ ได้แก่  

1.พัฒนาศักยภาพแกนนำเพื่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา สุขภาพของพนักงาน มีทัศนคติเชิงบวกด้านสุขภาพ มีความละเอียดอ่อนต่อประเด็นเพศสภาวะ (gender) และเพศวิถี (sexuality) มีความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถนำความรู้และข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของโครงการไปเผยแพร่กับเพื่อนร่วมงานได้  

2. รณรงค์ให้พนักงานและฝ่ายบริหาร ของ ขสมก. ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ โดยมีการทำงานสองลักษณะคือ หนึ่ง จัดหาสื่อเผยแพร่รณรงค์เรื่องสุขภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  สอง จัดทำสื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทชีวิตและการทำงานของพนักงาน ขสมก. เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น วิดีโอ กลุ่มไลน์ เฟซบุ๊ก วารสาร ขสมก. สติ๊กเกอร์ข้อความรณรงค์บนรถโดยสาร นิทรรศการเคลื่อนที่ และคู่มือการดูแลสุขภาวะบนรถ เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมให้แกนนำพนักงานและคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยฯ ในเขตการเดินรถร่วมกันจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนการจัดเวทีรับฟังปัญหาด้านสุขภาพ ระดมข้อเสนอการทำงานด้านสุขภาพและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริหารทุกระดับ

3. สร้างพื้นที่การรับรู้และการสนับสนุนจาก ผู้บริหาร ขสมก. ผ่านการประชุมชี้แจงโครงการนำเสนอผลการดำเนินงานการรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหา และแนวทางแก้ไข จากการลงเยี่ยมและรับฟังข้อเสนอแนะต่อประเด็นด้านสุขภาพในแต่ละเขตการเดินรถ กระตุ้นให้เกิดร่างนโยบายด้านสุขภาพที่เอื้อแก่พนักงานทั้งด้านสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม โดยคณะทำงานจะบรรจุวาระการร่างนโยบายและแผนปฏิบัติ ที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานให้อยู่ในการประชุมทุกครั้ง เพื่อให้ผู้บริหารได้มีส่วนร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ จนสามารถผลักดันร่างนโยบายดังกล่าวออกมาเพื่อเสนอเข้าไปอยู่ในแผนปฏิบัติงานของ ขสมก. ในระยะต่อไป

4. สรุปผล ถอดบทเรียน และเผยแพร่การดำเนินโครงการ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เริ่มมีนโยบายการแก้ปัญหาให้พนักงาน ขสมก. แต่ยังไม่ได้ครบทุกเขต เช่น มีห้องน้ำของพนักงาน ขสมก. ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งดินแดง ฝั่งราชวิถี และฝั่งพญาไท  ส่วนเรื่องน้ำดื่มอยู่ระหว่างการตั้งงบประมาณ 400,000 บาท เพื่อจัดซื้อตู้น้ำดื่มไว้ที่กองเดินรถ ให้ครอบคลุมทั้ง 24 กองเดินรถ 8 เขตการเดินรถ

จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ เล่าว่า การทำงานเรื่องนี้ทำให้ได้บทเรียนจากการพัฒนานโยบายกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้เห็นข้อจำกัดในการขับเคลื่อนงานที่เชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างอันฝังรากลึกในสังคมไทย

การทำงานเริ่มต้นจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในช่วงแรก ทำให้ได้พูดคุยกับพนักงานในตำแหน่งเดินรถ (พนักงานกระเป๋า และพนักงานขับรถ) และทราบข้อมูลว่าสภาพการทำงานไม่เอื้อให้มีสุขภาพดี เช่น เข้าห้องน้ำไม่สะดวก พนักงานหญิงไม่ได้เปลี่ยนผ้าอนามัย บางคนถึงกับต้องใส่แพมเพิร์ส (ผ้าอ้อมสำเร็จรูป) ต้องซื้อน้ำดื่มเอง เป็นต้น

ข้อมูลที่พบทำให้ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้ปรึกษากับสหภาพแรงงานฯ และทำการสำรวจข้อมูลอีกชุดหนึ่ง ที่เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงาน ขสมก. โดยเฉพาะ เช่น ทำงานวันละกี่ชั่วโมง อยู่บนรถเมล์เป็นอย่างไรบ้าง และได้เจอกับคนที่ใส่แพมเพิร์สจริง ๆ

จากนั้นได้จัดเวทีเสวนาขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อนำเสนอข้อมูล และสะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิตพนักงาน ขสมก. ให้พนักงานที่ประสบปัญหามาเล่าสภาพชีวิตการทำงาน โดยคาดหวังว่าจะเป็นที่สนใจของสื่อสาธารณะ จากเวทีดังกล่าวทำให้สื่อมวลชนสนใจเรื่องนี้มาก และทำให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจปัญหาของพนักงาน ขสมก. ที่มีแรงกดดันที่อาจทำให้ส่งผลต่อการให้บริการประชาชน

......

จากนั้นได้มีกระบวนการส่งต่อข้อมูล ข้อเสนอเชิงนโยบาย และมีการพูดคุยหารือระหว่างมูลนิธิฯ กับผู้บริหาร ขสมก. ในขณะนั้น จนทำให้เกิดการศึกษาวิจัยเชิงลึกไปถึงเรื่องสุขภาพพนักงานตามมา เพราะจากข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯ เก็บมาพบว่า พนักงานหญิงจำนวนหนึ่งเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า จะเป็นผลมาจากการไม่ได้เปลี่ยนผ้าอนามัยหรือไม่ โดยได้ประสานความร่วมมือไปยัง ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถี ซึ่งมีฐานการทำงานเรื่องการคุกคามทางเพศกับ ขสมก. อยู่แล้ว ให้มาเชื่อมงานกัน และร่วมสนับสนุนงบประมาณด้วย โดยนำประเด็นเรื่องเหล้ากับการคุกคามทางเพศมาเชื่อมกันให้เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตหรือสุขภาพองค์รวม และยังมีเป้าหมายที่ตรงกันอีกอย่างหนึ่งว่า อยากจะทำงานเสริมพลัง (empowerment) ให้กับพนักงาน ขสมก. ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy