จะว่าไปแล้วสังคมไทย เพิ่งจะพูดถึงเรื่อง Consent หรือการยินยอม ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี่เอง ที่ผ่านมาเราอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ที่ให้อำนาจแก่ผู้ชายในการกำหนดความสัมพันธ์ทางเพศ ในขณะหน้าที่ปฏิเสธตกเป็นของผู้หญิง บ้างก็ว่าเป็นผู้หญิงให้ปฏิเสธพอเป็นธรรมเนียม กลายเป็นว่าสังคมมองผู้หญิงที่ปฏิเสธเพียงแค่แกล้งทำ สิ่งเหล่านี้ส่งต่อถึงวัฒนธรรมการกล่าวโทษเหยื่อ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ สังคมจะเกิดการตั้งคำถามกับผู้หญิงก่อนเสมอ
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน เข้าใจว่าระดับของเพศสัมพันธ์ทำได้แค่ไหน และยอมรับในการตัดสินใจของอีกฝ่าย แต่สังคมไทยแทบจะไม่ได้สื่อสารเรื่องนี้กันเลย ผู้หญิงถูกตีกรอบความเป็นหญิง ทำให้ไม่สามารถสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองต้องการออกมาได้ กลายเป็นการให้อำนาจแก่ฝ่ายชายในการกำหนดความสัมพันธ์ทางเพศ แม้ผู้หญิงจะไม่ยินยอมก็ไม่สามารถปริปากบอกได้ และแน่นอนว่าเมื่อไม่ยินยอมก็เท่ากับ การข่มขืน หรือการล่วงละเมิดทางเพศ
หัวใจสำคัญของ Consent คือการสื่อสาร แต่สิ่งที่ทำให้การสื่อสารผิดพลาดที่สุดคือการตีความจากภาษากาย เข้าใจไปเองว่า สีหน้าเรียบเฉย การไม่ตอบโต หรือการอยู่ในภาวะเมาสุรา คือการยินยอม
อาจารย์ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การตีความจากภาษากาย หรือ Nonverbal นำมาสู่ความผิดพลาดในการตีความของคู่ความสัมพันธ์ ในต่างประเทศมีการณรงค์ด้วย 3 คำ ที่เราควรจะเอามาใช้นั่นคือ
Ask ถามก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
Listen ฟังว่าคู่ของเรามีความรู้สึกอย่างไร อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
Respect เคารพในการตัดสินใจของอีกฝ่าย
ในขณะเดียวกันการยินยอมต้องเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่มีความสัมพันธ์ทางเพศ หากระหว่างนั้นมีการแสดงท่าทีไม่สบายใจ หรือมีการปฏิเสธ ต้องกลับมาที่ 3 คำ นั่นคือ Ask-Listen-Respect อีกครั้ง นอกจากนี้การยินยอมในครั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่ายินยอมตลอดไปด้วยเช่นกัน