จับตาสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวช่วงโควิด-19
(เผยแพร่บทความเมื่อ 3 เมษายน 2563)
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกต้องออกมาตรการล็อคดาวน์ ให้ทุกคนอยู่บ้านให้มากที่สุด แต่ผลกระทบที่ไม่คาดคิดกลับเป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ อย่างที่เมืองต้าโจว มณฑลเสฉวน ประเทศจีนมีคู่สามีภรรยาที่เดินทางมาจดทะเบียนหย่าแล้วกว่า 300 คู่ ในช่วง 3 สัปดาห์ ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนาย Lu Shijun ผู้จัดการฝ่ายจดทะเบียนสมรส ระบุว่าการอย่าร้างที่มากขึ้นอาจเป็นเพราะการใช้เวลาอยู่ด้วยกันที่บ้านมากเกินไปในช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ทะเลาะเบาะแว้งกันมากขึ้น
ด้านประเทศออสเตรเลีย มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 150 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อให้บริการช่วยเหลือทางโทรศัพท์ทั้งต่อเหยื่อและผู้ก่อเหตุรุนแรงในครอบครัว “Women's Safety NSW” องค์กรด้านความปลอดภัยของผู้หญิงในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียรายงานว่าพนักงานกว่า 40% เห็นการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ ซึ่งหนึ่งในสามมีความเชื่อมโยงกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในส่วนของ “WAYSS” องค์กรเพื่อผู้หญิงในรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่าช่วงที่ผ่านมาตำรวจขอให้ช่วยงานเพิ่มมากขึ้น 2 เท่า เนื่องจากมีเหตุการณ์ล่วงละเมิดที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน การอยู่บ้านแทนที่จะได้ออกไปทำงาน หรือท่องเที่ยว ยิ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ
ในขณะกระทรวงความเท่าเทียมของประเทศสเปนเปิดเผยว่ามีผู้ใช้บริการสายด่วนให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความรุนแรงระหว่างเพศเพิ่มมากขึ้นกว่า 12.4% ในช่วงสองสัปดาห์แรกที่มีการล็อคดาวน์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการให้คำปรึกษาผ่านเว็บไซต์ก็มีการขยายตัวถึง 270% อีกทั้งยังมีการจัดโรงแรมให้เหยื่อที่ถูกใช้ความรุนแรงระหว่างเพศพัก ในกรณีที่ศูนย์พักพิงมีไม่เพียงพอในช่วงนี้อีกด้วย
ประเทศฝรั่งเศสมีรายงานความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นถึง 30% ในช่วงที่มีการล้อคดาวน์ประเทศ ซึ่งโดยปกติ ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีอัตราความรุนแรงในครอบครัวสูงที่สุดในกลุ่มยุโรป ทุกปีมีผู้หญิงประมาณ 219,000 คน ที่ถูกใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและทางเพศจากคู่รักหรืออดีตคู่รัก แต่มีเพียง 20% เท่านั้น ที่มีการรายงาน โดยในทุก ๆ 3 วัน จะมีผู้หญิงถูกฆ่าโดยคู่รัก 1 คน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นและเกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศก็ยังไม่สามารถจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ ที่น่าเป็นห่วงคือในประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการ แต่มีการคาดคะเนว่าจะมีผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ประเทศไทย มีการรณรงค์ให้อยู่บ้าน เพิ่มระยะห่างสังคม (Social Distance) เช่นเดียวกับต่างประเทศ จากการเก็บสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวปี 2561 จากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบข่าวความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 623 ข่าว ซึ่งข่าวการฆ่ากันสูงที่สุด รองลงมาเป็นข่าวฆ่าตัวตาย และข่าวการทำร้ายกัน โดยเป็นข่าวที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น จำนวน 108 ข่าว หรือประมาณร้อยละ 17.3 ของข่าวทั้งหมด ซึ่งในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19
เจ้าหน้าที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การให้บริการสายด่วนในการให้คำปรึกษาลดลง ซึ่งคาดว่าหากรัฐบาลมีมาตรการปิดเมืองห้ามเดินทาง น่าจะมีรายงานความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น และคาดว่าผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือเนื่องจากหวาดกลัวคู่กรณี
ในแง่ของการที่ผู้ชายต้องอยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งจากบริบทของสังคมไทย ผู้ชายมักจะไม่เคยได้รับภาระภายในบ้านเท่าผู้หญิง การทำงานบ้าน ดูแลลูก จึงเป็นเรื่องที่ผู้ชายบางคนไม่เคยทำมาก่อนหรือทำน้อยกว่า ภาวะความเครียดจากการปรับตัว ไม่ได้พบปะผู้คน การต้องมาเห็นหรือรับผิดชอบหน้าที่ภายในบ้านประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวในช่วงนี้ มีโอกาสทำเกิดความไม่เข้าใจ ทะเลาะเบาะแว้ง ผู้ชายบางคนหาทางออกด้วยการดื่มสุรา แต่ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรง การอยู่ด้วยกันมากขึ้นก็อาจะทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง โดยเฉพาะผู้ชายที่คุ้นชินกับการใช้อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะจะยิ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้ นอกเหนือจากนี้ยังต้องระวังการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยอาศัยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถออกนอกบ้าน หรือเข้าใจว่าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้ ซึ่งจากกรณีศึกษาในต่างประเทศพบว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศลักษณะนี้มาแล้ว
ในสภาวะเช่นนี้เราคงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ เรียนรู้กันระหว่างหญิงชาย ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม ขจัดทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ที่ผู้ชายบางคนก็แทบไม่รู้ตัวว่ามีทัศนคติหรือการกระทำแบบนี้อยู่ หากถูกกระทำด้วยความรุนแรงหรือพบเห็นผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงต้องรีบแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ อย่าเก็บไว้คนเดียว อาทิ สายด่วนช่วยเหลือสังคม 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือขอรับคำปรึกษาที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล หมายเลข 0-2513-2889 ในวันจันทร์–ศุกร์ เวลา 09.00 – 15.00 น. (เว้นวันหยุดราชการ)
อย่ารอให้ความรุนแรงปะทุมากขึ้น ไวรัสอาจหมดไปในวันหนึ่ง แต่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจะก่อตัวต่อไป ส่งผลกระทบและทวีความรุนแรงมากกว่าเชื้อไวรัสอีกหลายเท่า
......