แชร์

สุขสร้างได้กับครอบครัว....ไร้ความรุนแรง

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
104 ผู้เข้าชม

(เผยแพร่บทความเมื่อ 14 เมษายน 2563)

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี เราจะเห็นผู้คนเดินทางกลับบ้านเกิดกันมาก เพราะช่วงสงกรานต์มีวันหยุดหลายวัน หลายคนกลับไปเยี่ยมครอบครัวมีโอกาสไปกราบคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ได้ไปทำบุญร่วมกัน ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความคิดถึง ความห่วงใย ความเกื้อกูลเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที จึงถือกันว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว แต่เทศกาลสงกรานต์ปีนี้เกิดภาวการณ์โรคไวรัสโควิค-19 ระบาดอย่างหนัก รัฐบาลมีมาตรการ Social Distancing รวมถึงได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันและบรรเทาการแพร่ระบาดโดยให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน สั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อซึ่งมีทั้งสถานที่ทำงานและที่หารายได้ของประชาชนรวมถึงสถานศึกษาทุกระดับ สถานเลี้ยงเด็กเบื้องต้นกำหนดระยะเวลาไว้ถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการให้ประชาชนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุได้อยู่บ้านร่วมกัน

มาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการระบาดของโรคแต่มาตรการดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรงในบ้านได้โดยอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยการระบาดของไวรัสโควิค-19 มีข้อมูลสะท้อนสถิติความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นมีจำนวนผู้โทรศัพท์เข้ามาสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เดือนมีนาคม 2563 มีทั้งสิ้น 154 รายเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีจำนวน 144 ราย ซึ่งสอดคล้องกับถานการณ์ปัญหาจากข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวม พบกรณีข่าวสามี อายุ 53 ปีชวนเพื่อนมานั่งสังสรรค์ดื่มเหล้าบริเวณหน้าบ้านตั้งแต่เย็นกระทั่งดึก ภรรยา อายุ 39 ปีด้วยความเป็นห่วงเพราะรู้สึกว่าช่วงนี้เกิดโรคระบาดรุนแรง จึงเดินออกไปเรียกเข้าบ้านเกิดการทะเลาะกันและลงไม้ลงมือทำร้ายกันจนสามีเสียชีวิต หรือกรณีข่าวสามี อายุ 66 ปีอยู่กินกับภรรยา อายุ 62 ปี มาหลายสิบปี มีการทะเลาะเบาะแว้งกันมาโดยตลอด โดยล่าสุดมีการทะเลาะกันประเด็นห้ามสามีออกจากบ้าน เพราะสามีออกจากบ้านไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัย หลังมีปากเสียงกันสามีขู่จะยิงตัวตาย และได้หนีไปอยู่บ้านลูกชายคาดว่าสามีมีภาวะความเครียด จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย รวมถึงจากการให้คำปรึกษาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบกรณี สามีอายุ 27 ปี ภรรยาอายุ 32 ปี ทั้งสองอยู่ด้วยกันประมาณ 9 เดือน สามีมีปัญหาความหึงหวงภรรยา ดุด่าและทำร้ายร่างกายภรรยาด้วยการตบตีถึง 9 ครั้ง ซึ่งระหว่างทางมาส่งภรรยาทำงานสามีจะตบตีเธอบนรถตลอดทาง เธอตัดสินใจปรึกษาหัวหน้างานเพื่อตัดสินใจจะเลิกกับสามี เธอไม่กล้ากลับไปที่ห้องพัก เพราะกลัวสามีจะทำร้าย และต้องการกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด แต่ในช่วงภาวะโรคระบาดทำให้เธอไม่มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในการเดินทางและประกอบกับไม่มีรถโดยสารให้เดินทางกลับบ้านได้

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวมีแนวคิดที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุความรุนแรงในครอบครัวมาจากการถูกปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก คือ ผู้ชายจะถูกเลี้ยงโดยอนุญาตให้อิสระในการออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องรับผิดชอบงานในบ้าน ส่วนผู้หญิงมักต้องอยู่ในบ้านร่วมกับผู้อื่น ต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ความต่างนี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชาย ซึ่งทำให้ผู้ชายต้องการเวลาส่วนตัว ความเป็นอิสระ ขณะผู้หญิงต้องการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เมื่อผู้หญิงและผู้ชายต่างใช้มุมมองจากการเลี้ยงดูมาใช้ เมื่อแต่งงานกันผู้ชายส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายต้องเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้านและเลี้ยงลูก แม้ว่าบางครอบครัวผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน บางคนมีรายได้มากกว่าผู้ชาย แต่ความเชื่อดังกล่าวยังดำรงอยู่อย่างแข็งแรง ส่งผลทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับภาระหนักเป็น 2 เท่า ประกอบกับการสื่อสารกันระหว่างหญิงชายยังเป็นปัญหาหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกัน เพราะผู้ชายมักใช้ภาษาเพื่อให้ได้มาสิ่งที่ตัวเองต้องการ ขณะที่ผู้หญิงใช้ภาษาเพื่อรักษาความสัมพันธ์และความต้องการของผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ชายคิดว่าการพูดความรู้สึกของตนเองหรือการพูดเรื่องความสัมพันธ์นั้นไม่จำเป็น ขณะที่ผู้หญิงกลับเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก เช่น ผู้หญิงคาดหวังให้ผู้ชายแสดงความห่วงใยด้วยคำพูด แต่ผู้ชายแสดงออกด้วยการกระทำ เช่น ล้างรถ กวาดบ้านให้โดยที่ผู้หญิงไม่ต้องร้องขอ

การปลูกฝังหญิงและชายที่ต่างกันนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงในบ้านที่เรื้อรังและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงโรคระบาดที่ทุกคนต้องอยู่ในบ้านร่วมกัน ผู้ชายหลายคนไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้ในการเข้าสังคมเพื่อนที่ต้องมีการดื่มสังสรรค์ทั้งในบ้านและนอกบ้าน การเที่ยวกลางคืน หรือการเล่นการพนันในบ่อน ส่งผลทำให้สถิติการติดเชื้อโรคระบาดของผู้ชายมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง เช่น กลุ่มจากสนามมวย บาร์ ผับ เป็นต้น ซึ่งจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้หญิงอาชีพแม่บ้าน ติดโรคจากบุคคลในครอบครัว ความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลกระทบกับผู้หญิงทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจเมื่อถูกใช้ความรุนแรงในบ้าน ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ หลายคนไม่กล้าออกมาจากบ้านหรือเข้ามาขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทั้งโรงพยาบาล สถานีตำรวจในการดำเนินคดี เพราะความกังวลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ปัญหาการเดินทาง รวมถึงหลายคนประสบปัญหาการตกงาน ไม่มีรายได้

สถานการณ์ความรุนแรงในบ้านไม่ใช่เกิดเฉพาะในครอบครัวที่มีภาวะความเปราะบางอยู่แล้วแต่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีภาวะปกติ เพราะมีความเครียด ความกดดัน จากสภาวะเศรษฐกิจมากระตุ้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาเนื่องในวันครอบครัวที่เกิดภาวการณ์โรคระบาด ดังนี้

1.ผู้หญิงและเด็กต้องเผชิญความยากลำบากเพิ่มขึ้นในแง่ของการเข้าถึงความช่วยเหลือในช่วงโรคระบาด รัฐควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ช่องทางขอความช่วยเหลือทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

2.การปิดโรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็ก ครอบครัวจึงต้องนำบุตรหลานมาดูแลเองทำให้ผู้หญิงต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากงานประจำวัน เช่น ภาระงานในบ้าน ซักผ้า ถูบ้าน ทำกับข้าว งานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงงานที่ต้องทำแบบ Work from home หากผู้ชายมีการแบ่งเบาภาระงานในบ้านได้โดยยึด “การเห็นอกเห็นใจกัน”จะเป็นส่วนในการลดปัญหาความรุนแรงในบ้านได้

3.ผู้ชายหลายคนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งการสูบบุหรี่ ยาเสพติด และดื่มเหล้าเป็นประจำ โดยเฉพาะการดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในบ้าน รัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาสุรา หรือหน่วยงานที่บำบัดผู้ติดสุราหรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง

4.การบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา


บทความที่เกี่ยวข้อง
บทสัมภาษณ์ คุณอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในงานกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสท
บทสัมภาษณ์ คุณอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในงานกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง
17 ธ.ค. 2024
บทสัมภาษณ์ คุณทสร บุณยเนตร (Chief Creative officer) ผู้แทน บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด ในงานกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่
บทสัมภาษณ์ คุณทสร บุณยเนตร (Chief Creative officer) ผู้แทน บริษัท บีบีดีโอ กรุงเทพ จำกัด ในงานกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง
17 ธ.ค. 2024
บทสัมภาษณ์ คุณชนกนันท์ ปรีดาเจริญ หรือ มินนี่ ญาติผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในคู่รัก ในงานกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่
บทสัมภาษณ์ คุณชนกนันท์ ปรีดาเจริญ หรือ มินนี่ ญาติผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในคู่รัก ในงานกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี “Bring Back 2nd Chance of Life” คืนโอกาสดีๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง
17 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy