ก้าวต่อไปของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลสู่มือคนรุ่นใหม่
(เผยแพร่บทความเมื่อ 5 สิงหาคม 2564)
กว่า 10 ปีที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลดำเนินงาน เรามีความเชื่อว่า ผู้หญิง ผู้ชาย และทุกเพศ ที่ได้รับผลกระทบจากระบบชายเป็นใหญ่ สามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเอง ครอบครัว รวมไปถึงชุมชน และนโยบายได้ เพื่อนำไปสู้ความเท่าเทียมกันทางเพศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ จากระบบชายเป็นใหญ่
มูลนิธิฯ ออกแบบงานสามส่วน คือ
- งานให้คำปรึกษาผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ ผ่านทางโทรศัพท์ สื่อออนไลน์ (เฟซบุ๊กเพจมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล) หรือการเดินทางเข้ามาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิฯ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทั้งเพศหญิง เพศชาย LGBTQ เล่าเรื่องราวความทุกข์จากการถูกใช้ความรุนแรง และไม่ได้รับความเป็นธรรม นำไปสู่การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง จากระบบชายเป็นใหญ่และความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ
- งานป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงงานทางเพศในชุมชน โดยอาสาสมัครและแกนนำ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับอาสาสมัครและแกนนำในชุมชน จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษากับผู้ประสบปัญหาจากความรุนแรง คอยช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ รวมถึงผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนในครอบครัว เพื่อให้เกิดการปรับความคิด ทัศนคติ และมาร่วมรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงร่วมกับคนทุกเพศในชุมชน
- งานสื่อสารสังคม เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่ผ่านพ้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ ได้ใช้พื้นที่เมือง ชนบท และแรงงาน ส่งเสียงตนเองเพื่อสะท้อนปัญหาให้สังคมได้เข้าใจ รวมทั้งผู้ชายที่เคยใช้ความรุนแรงได้ส่งเสียงสะท้อนบทเรียนและผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงให้สังคมได้เรียนรู้ ร่วมกันแก้ปัญหาและรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่าง ๆ ที่เลือกปฏิบัติทั้งกับผู้หญิงและเพศอื่น ๆ อีกทั้งงานในชุมชนก็มีการเชื่อมโยงกับปัญหาชุมชนในมิติอื่น ๆ เช่น ความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และการรวมกลุ่มในมิติอื่น ๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์การทำงานแบบมีส่วนร่วมจากคนทำงานและชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัครและแกนนำในชุมชน เป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางองค์กรและการทำงานทั้งหมด แต่ในขณะที่คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนรวมและบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม งานทั้งสามส่วนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัว กล้าคิด กล้าตั้งคำถามถึงปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคม ที่ส่งผลต่อความไม่เทียม และความรุนแรงทางเพศ ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับความคิดของคนรุ่นใหม่มากขึ้น
ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่มาจากระบบชายเป็นใหญ่นั้น เชื่อมโยงกับปัญหาโครงสร้างเชิงอำนาจอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ (เหล้า บุหรี่ การพนัน) ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโครงการขนาดใหญ่ ความมั่นคงทางอาหาร จากทุนผูกขาดทั้งด้านอาหาร ทุนเหล้า และทุนผูกขาดอื่น ๆ ดั้งนั้นการแก้ปัญหาสิทธิของผู้หญิง ผู้ชาย และทุกเพศ จำเป็นต้องแก้ปัญหาโครงสร้างเชิงอำนาจที่เชื่อมโยงกันในหลายมิติ
10 ปีที่ผ่านมาคงไม่เพียงพอ มูลนิธิฯ ยังต้องเรียนรู้และปรับตัวอีกมาก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ เราเชื่อว่าก้าวต่อไปและความมั่นคงขององค์กรจะอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ ผู้ที่จะกำหนดทิศทางของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เราจึงสนับสนุนให้พวกเขามีส่วนร่วมในการบริหารงานในองค์กรมาตลอด คนรุ่นอาวุโส ควรเปลี่ยนบทบาทไปเป็นที่ปรึกษา เอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนและส่งเสริมให้พวกเขาสามารถทำงานและก้าวต่อไปในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความพลิกผันได้