แชร์

Recap เวทีเสวนา "ส่องมายาคติกระบวนการยุติธรรมกับการคุกคามทางเพศ"

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
357 ผู้เข้าชม
Recap เวทีเสวนา "ส่องมายาคติกระบวนการยุติธรรมกับการคุกคามทางเพศ"

(เผยแพร่บทความเมื่อ 5 กรกฎาคม 2565)

“มายาคติของสังคมกับกระบวนการยุติธรรม”

คุณอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

"จากสถิติข่าวปี 56-62 ข่าวการข่มขืนยังเป็นอันดับหนึ่งของปัญหาความรุนแรงทางเพศ ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุ 6-20 ปี และมักถูกกระทำจากคนใกล้ตัว ในขณะที่ผู้กระทำอยู่ในช่วงอายุ 16-30 ปี โดยมีสถานะทางสังคมและมีอำนาจเหนือกว่า อาชีพที่พบผู้กระทำผิดมากที่สุด คือ อาจารย์ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง เจ้าของธุรกิจ และยังพบว่ามีพระสงฆ์ ผู้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้ากระทำผิดมากขึ้นด้วย"

จากการเก็บข้อมูลสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลในช่วง ปี 2556-2562 พบว่าเป็นข่าวถูกข่มขืนมากที่สุด ตามมาด้วยข่าวการพยายามข่มขืนและข่าวการทำอนาจาร ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นเป็นยาเสพติดและแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จากสถิติผู้ถูกกระทำเป็นเยาวชนในช่วงอายุ 6-20 ปี โดยมักถูกกระทำจากคนใกล้ชิดหรือครอบครัวมากกว่าคนแปลกหน้า ในขณะที่ผู้กระทำอยู่ในช่วงอายุ 16-30 ปี ซึ่งส่วนมากมีสถานะทางสังคมที่เหนือกว่า โดยอาชีพที่พบผู้กระทำผิดมากที่สุดคือ อาจารย์ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง เจ้าของธุรกิจ ตามลำดับ และยังมีการพบเห็นผู้กระทำเป็นพระสงฆ์ ผู้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าเพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการคุกคามทางเพศในปัจจุบันว่าไม่ได้เกิดจากการใช้ความรุนแรงต่อร่างกายเพียงเท่านั้น แต่เป็นการใช้อำนาจที่มีมากกว่ามาบังคับข่มขู่ ซึ่งมีความแนบเนียนและทำได้ต่อเนื่องมากกว่า สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โครงสร้างความคิด ความเชื่อค่านิยมและมายาคติแบบปิตาธิปไตยที่กดทับผู้ถูกกระทำไว้ ทำให้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือและดำเนินการทางกฎหมาย

ผู้ถูกกระทำถูกกดทับจากหลายชั้น

ชั้นแรก จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ที่มีอำนาจหรือสถานะเหนือกว่า ส่งผลให้เกิดความกลัวและเกิดบาดแผลทางใจขึ้นในกรณีที่ผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิด บวกกับมีการคุกคามมาเป็นระยะเวลานานจนกลายเป็นความสัมพันธ์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดทับผู้ถูกกระทำ และยังส่งผลให้รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนในความผิดนั้น

ชั้นที่สอง จากครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่รู้สึกอับอาย และต้องการให้เรื่องราวจบลง ไม่พยายามช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ถูกกระทำต่อสู้ในชั้นต่อไป

ชั้นที่สาม จากสังคม สื่อ ชุมชน ที่ตั้งคำถามถึงเหตุการณ์และพฤติกรรมของตัวผู้ถูกกระทำซึ่งดูเหมือนจะเป็นการกล่าวโทษ ตีตรา มากกว่าการตั้งคำถามเพื่อสอบสวนผู้กระทำผิด

กว่าจะผ่านการกดทับทั้งสามชั้น จึงเป็นเรื่องยากมาก กว่าผู้ที่ถูกกระทำจะก้าวออกมาเพื่อข้ามไปสู้กระบวนการยุติธรรม

อีกทั้งยังมีการกดทับชั้นที่สี่จากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นการผลักภาระให้แก่ผู้ถูกกระทำ และตัวเจ้าหน้าที่ดำเนินการเองก็ไม่ได้ถูกอบรมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการคุกคามทางเพศ ทำให้ใช้แนวทางการตัดสินด้วยมายาคติผิด ๆ และมีอคติทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง

ปัจจัยทั้งหมดจึงส่งผลให้ผู้ถูกกระทำหลาย ๆ คนมักยอมแพ้ระหว่างทาง และไม่ดำเนินการคดีต่อไปจนถึงที่สุด

......

“เมื่อผู้เสียหายถูกกระทำซ้ำและความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม”

คุณธารารัตน์ ปัญญา นักกิจกรรมอิสระ

“การเรียกร้องความยุติธรรมมันยาก มันยาวนาน ต้องใช้ต้องใช้ทรัพยากรมากมาย และต้องเจอแรงกดดันรอบด้าน ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้สนับสนุนเยียวยาผู้เสียหาย  ผู้เสียหายเลยไม่อยากเข้าสู่ขบวนการยุติธรรม บางรายอาจยอมแพ้ระหว่างขั้นตอน บางรายเลือกใช้สื่อต่าง ๆ ในการเรียกร้องความเป็นธรรมแทน แต่กลับได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม กดดันซ้ำเติมไปอีก”

กระบวนการยุติธรรม มุ่งเน้นการหาพยานและหลักฐาน มากกว่าการช่วยเหลือและเยียวยา มีหลายขั้นตอนที่เป็นการซ้ำเติมแผลของผู้ถูกกระทำจากการขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในระบบ

ผู้ถูกกระทำที่ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ และอาจทิ้งเวลานานหลังจากวันที่เกิดเหตุ จึงมักถูกตั้งคำถามและถูกมองในทางที่ไม่ดี จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องให้ข้อมูลและดูแลผู้ถูกกระทำในระหว่างกระบวนการ แต่โดยส่วนมากเจ้าหน้าที่พยายามที่จะไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออกที่ประนีประนอม เมื่อผู้ถูกกระทำไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนในการตัดสินใจ จึงมีหลายกรณีที่ตัดสินใจออกจากกระบวนการ

ความไม่เข้าใจและอคติที่มีต่อผู้ถูกกระทำ ส่งผลให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ช่วยสนับสนุนซ้ำยังสร้างบาดแผลจากขั้นตอนที่ซ้ำซากและยาวนาน ผู้ถูกกระทำจึงต้องเรียกร้องความยุติธรรมผ่านช่องทางอื่นแต่กลับได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอคติของสังคม

......

“การกล่าวโทษผู้เสียหายจากการแต่งกาย”

คุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ นางแบบ และนักแสดง

"ซินดี้อยากสร้าง Awareness ให้กับสังคม หน้าที่ของซินดี้ คือพยายามสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจปัญหาเหล่านี้มากขึ้น นี่คือจุดประสงค์ของ Don’t tell me how to dress มาตั้งแต่แรกแล้ว เราต้องสร้างความตระหนักรู้ต่อประชาชนทั่วไป และให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น"

สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารอย่างง่าย เพื่อปรับความเข้าใจของคนโดยรอบและให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าการกล่าวโทษผู้เสียหาย เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การแต่งกายของผู้เสียหาย หรือสถานที่เกิดเหตุ ไม่ได้เป็นสาเหตุของการล่วงละเมิดทางเพศ แต่การล่วงละเมิดทางเพศนั้นเกิดจากตัวผู้กระทำ

ซึ่งเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการ Don’t tell me how to dress เพื่อสื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยปราศจากอคติและเป็นการตอบคำถามแก่สังคมที่มักตั้งคำถามและโยนความผิดให้แก่ตัวผู้ถูกกระทำ ให้สังคมได้ตระหนักรู้และปรับทัศนคติที่มีต่อปัญหาการคุกคามทางเพศ

เป็นการสื่อสารเรื่องราวที่ละเอียดและซับซ้อนให้คนภายนอกเข้าใจ ถึงเบื้องหลังเหตุการณ์และสถานการณ์ปัจจุบันว่าการคุกคามทางเพศมาจากรูปแบบไหนและสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมให้ตื่นตัวต่อเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดนิทรรศการที่แสดงเสื้อผ้าของผู้ถูกกระทำ โดยเริ่มจากจัดที่สยามพารากอน มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่ง รวมถึงสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ด้วย

ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสังคมได้ให้ความสนใจและมีมุมมองต่อเหตุการณ์อย่างถูกต้องและตรงไปตรงมาปราศจากอคติมากขึ้น มีการพูดถึงและรณรงค์บนสื่อออนไลน์จากประชาชนอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา

และจากแนวโน้มกระแสตอบรับที่ดี เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงมากขึ้น จึงขยายการสื่อสารเป็นวงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ โดยได้เปลี่ยนจากการจัดนิทรรศการในพื้นที่ต่าง ๆ ไปอยู่ในรูปแบบเว็บไซต์ พร้อมทั้งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและลิงค์ไปยังองค์กรต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ รวมไปถึงมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลด้วย

นอกจากนี้การ Empower คนที่อยู่ในสถานการณ์นี้ เพื่อให้หลุดจากการกล่าวโทษตนเอง และกล้าที่จะมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะต้องสื่อสารให้เข้าใจง่าย โดยเสนอให้มีพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้เสียหายจะสามารถไปปรึกษารับคำแนะนำ เพื่อให้ทราบแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเข้าใจ

รับชมนิทรรศการ #dontellmehowtodress ได้ทางเว็บไซต์ www.donttellmehowtodress.com
                                                                              ......

“งานวิจัยเรื่อง เพศวิถีในคำพิพากษา กับการโทษผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรม”

รองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"มายาคติ สะท้อนอคติ ไม่ใช่แค่ในชั้นของขบวนการยุติธรรมและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่สะท้อนอคติของคนในสังคม แทนที่เราจะตั้งคำถามว่า ผู้ชายได้ข่มขืนจริงหรือไม่ แต่กลับกลายเป็นตั้งคำถามว่า ผู้หญิงถูกข่มขืน หรือสมัครใจกันแน่? อีกทั้งในขบวนการตัดสิน คำพิพากษายังคิดถึงการข่มขืนว่าต้องเป็นเรื่องของคนแปลกหน้า ใช้กำลังต่อผู้หญิง ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่ ที่เราต้องทำให้ระบบกฎหมาย ขบวนการยุติธรรม และคนในสังคม Sensitive กับเรื่องเหล่านี้ ลดทอนอคติที่มีให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้"

มายาคติในกระบวนการยุติธรรม เป็นตัวสะท้อนอคติที่อยู่ในกฎหมายและของคนในสังคมที่มีต่อปัญหาการคุกคามทางเพศ การมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของสังคมซึ่งรวมไปถึงตัวเจ้าหน้าที่ในระบบเองก็ทำให้ทิศทางของกระบวนการไม่ได้เป็นไปอย่างยุติธรรม

ยกตัวอย่างขั้นตอนการสืบหาพยานและหลักฐาน เจ้าหน้าที่จะตั้งคำถามซึ่งดูเหมือนเป็นกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ เช่น ทำไมถึงแต่งตัวแบบนี้? หรือทำไมพึ่งมาพูดตอนนี้? เป็นการมองผู้ถูกกระทำให้มีความผิดร่วมด้วย ซึ่งหากมองอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เจ้าหน้าที่ควรที่จะสอบสวนผู้กระทำมากกว่าการตั้งคำถามเหล่านี้ เป็นการตั้งคำถามผิดฝั่งเพราะอคติที่มีต่อผู้ถูกกระทำ

และการตีความในความหมายของคำว่าไม่ยินยอม ก็ยังสามารถทำให้ทิศทางของคำตัดสินเปลี่ยนได้ เพราะหากมองในแง่ของการใช้กำลัง นับว่าเป็นการเจาะจงไปที่ความรุนแรง รวมถึงบาดแผลบนร่างกายที่สามารถใช้เป็นหลักฐานที่ตรวจสอบได้ แต่ถ้าหากเป็นการมองในแง่ของการใช้อำนาจบังคับข่มขู่ผู้ถูกกระทำ ก็จะไม่มีหลักฐานเพียงพอ และตรวจสอบได้ยาก

นอกจากนี้การตัดสินจากความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายก็ยังย้อนแย้งกับสถิติความเป็นจริง เช่น หากเคยเป็นอดีตคนรักหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางด้านร่างกายต่อกันก็จะไม่ถูกมองว่าเป็นการข่มขืน และในกรณีที่ผู้ถูกกระทำเข้าสู่กระบวนการหลังจากเหตุการณ์ผ่านมานานแล้วก็จะถูกพิจารณาถึงสาเหตุอื่นนอกเหนือจากการถูกบังคับ อย่างเรื่องเงินเป็นต้น

ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเราต้องช่วยกันแก้ปัญหาในทุกขั้นตอนทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้คนในสังคมและขบวนการยุติธรรม มีความเข้าใจอย่างละเอียดอ่อนต่อมุมมองเรื่องการคุกคามทางเพศ ผู้ถูกกระทำจึงจะได้รับความยุติธรรมอย่างที่ควรได้รับ

บทความที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 พ.ย. 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 พ.ย. 2023
“เพื่อนช่วยเพื่อน” กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
กรณีตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีทัศนคติ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการหนุนเสริมที่เข้าใจ และเป็นมิตร ที่เรียกว่า "เพื่อนช่วยเพื่อน" กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
28 ก.ย. 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy