แชร์

LGBTQIA+ กับปัญหาความรุนแรงทางเพศ

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
1011 ผู้เข้าชม
LGBTQIA+ กับปัญหาความรุนแรงทางเพศ

(เผยแพร่บทความเมื่อ 8 สิงหาคม 2565)

ในอดีตเราอาจเข้าใจว่าปัญหาความรุนแรงทางเพศ การถูกคุกคาม ล่วงละเมิด เกิดขึ้นกับผู้หญิงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันภาพของปัญหาไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

ช่วงที่ผ่านมามูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รับการติดต่อและให้คำปรึกษาแก่ผู้ถูกกระทำที่เป็น LGBTQIA+ มากขึ้น มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าออกมาเรียกร้อง หรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น เพราะมายาคติของสังคมที่ตีกรอบให้ LGBTQIA+ เป็นกลุ่มที่ “ไม่น่าจะเสียหาย” นี่คือสิ่งที่เราต้องมาตั้งคำถามกลับว่า เราเข้าใจคำว่าเท่าเทียมเพียงพอแล้วหรือยัง

สังคมสอนเรื่องเพศด้วยกล่องความเป็นหญิง ความเป็นชาย ในขณะที่ LGBTQIA+ กลับถูกมองว่าไม่ใช่เพศที่สังคมกำหนด การสะท้อนภาพผ่านสื่อ เป็น LGBTQIA+ ต้องตลก มีอารมณ์รุนแรง มีความต้องการทางเพศสูง กล่องความเป็นเพศที่ต่างจากหญิงและชายนี่เองที่ทำให้สังคมด้อยคุณค่าและตีตรา อย่างกรณี “เปลี่ยนทอมเป็นเธอ” ที่สังคมคิดว่าเปลี่ยนทอมให้เป็นผู้หญิงได้ หากมีอะไรกับผู้ชาย สร้างวาทกรรมล้อเลียนกันจนเป็นเรื่องตลก นี่คือการกดทับเรื่องเพศ ทำให้อีกเพศหนึ่งด้อยกว่า ทำให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่กล้าออกมาเรียกร้องและรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขั้นกับตัวเองเป็นเรื่องน่าอาย ไม่มีทางที่สังคมจะเข้าใจได้ ยิ่งทำให้การลุกขึ้นมาสื่อสารเมื่อเกิดปัญหายากมากขึ้น

ทัศนคติแบบ “ชายเป็นใหญ่” ทัศนคติที่กดทับทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือ LGBTQIA+ การให้อำนาจแก่ฝ่ายชายในการเป็นผู้นำ ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ และมีอำนาจเด็ดขาดในหลายบริบท พฤติกรรมบางอย่าง เช่น ดื่มเหล้า เจ้าชู้ ใช้กำลัง ผู้ชายทำได้ สังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากเป็นผู้หญิงสังคมจะมองอีกด้านทันที หรือหากกรณีที่ผู้ชายถูกกระทำถือเป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย “เพราะสังคมมองว่าผู้ชายไม่มีอะไรที่สึกหรอ” จนทำให้ “ความเป็นชาย” ถูกแสดงออกด้วยอำนาจที่เหนือกว่า

เมื่ออีกฝ่ายรู้สึกมีอำนาจเหนือ สามารถควบคุม จัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้ รวมไปถึงการรู้สึกว่าตัวเองมีบทบาททางเพศที่เหนือกว่า ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศ ซึ่งแน่นอนว่าคู่รัก LGBTQIA+ ก็เกิดปัญหานี้ไม่ต่างจากที่เกิดกับผู้หญิง

ไม่ใช่แค่กรณีการทำร้ายร่างกายหรือข่มขืนเท่านั้น ยังรวมถึงการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางสายตา คำพูดหรือการสัมผัส หลายกรณีเกิดขึ้นในองค์กร สถานที่ทำงาน โดยมักถูกมองเป็นเรื่องตลกขำขัน หรือย้อนกลับมาคำเดิมนั่นคือ “ไม่น่าจะเสียหาย” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากอีกฝ่ายไม่ยินยอม นั่นถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเพศใดก็ตาม

อีกกรณีที่น่าสนใจคือกรณีของผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากบุรุษพยาบาลขณะที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล จนถึงขั้นไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก (ผู้ถูกกระทำมีคู่รักเป็นผู้หญิง) หนำซ้ำยังถูกกดทับจากสังคมและโดยเฉพาะผู้มีอำนาจด้านกฎหมายด้วยความคิดว่า “ไม่เห็นต้องแจ้งความ เป็นผู้ชายไม่น่าจะเสียหาย!” กรณีนี้ฉายภาพให้เราเห็นว่าสังคมยังมีทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่และส่งผลไปถึงกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่การถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ และสร้างบาดแผลได้ไม่แพ้กัน

กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อฝ่ายชาย หรือ LGBTQIA+ เป็นฝ่ายถูกกระทำ สังคมจึงไม่ให้ความเห็นใจเพราะติดกับดักภาพจำของ “ชายเป็นใหญ่”

ในฐานะที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม สิ่งแรกที่เราควรช่วยกันและให้ความสำคัญคือ “การเคารพสิทธิและให้เกียรติผู้อื่น” ไม่ตัดสินใครด้วยกล่องความเป็นหญิง ความเป็นชาย รวมไปถึงการถอดรื้อทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ออกจากสังคม

ทั้งนี้บทบาทของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลคือการสื่อสารต่อสังคมเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศที่มาจากทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ สนับสนุนและให้การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำในทุกมิติ อย่างเท่าเทียม ทั้งยังเรียกร้องให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เข้ากับบริบทสังคมในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศในทุกระดับ

หากเกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศ การถูกคุกคาม หรือล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม สามารถขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้ เรามีนักสังคมสงเคราะห์และนักกฎหมายที่คอยดูแล ให้คำแนะนำและช่วยดำเนินการจนจบกระบวนการ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ถูกกระทำจะสามารถผ่านเรื่องราวนี้ไปได้อย่างไม่โดดเดี่ยว

บทความที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 พ.ย. 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 พ.ย. 2023
“เพื่อนช่วยเพื่อน” กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
กรณีตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีทัศนคติ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการหนุนเสริมที่เข้าใจ และเป็นมิตร ที่เรียกว่า "เพื่อนช่วยเพื่อน" กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
28 ก.ย. 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy