(เผยแพร่บทความเมื่อ 2 ธันวาคม 2565)
หากเรามองความรักเพียงผิวเผิน เราจะมองเพียงแค่ความโรแมนติก การได้ครอบครอง และบริบทการปลูกฝังของสังคม การขาดเสรีภาพ ยิ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้อย่างไม่ยากเย็น แต่หากเรามองให้ลึก เข้าใจให้ถ่องแท้ เราจะเห็นอีกภาพของความสัมพันธ์ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถอดรหัสของความรักได้อย่างชัดเจน และทำให้เราเขาใจว่า ทำไมความรักถึงนำไปสู่ความรุนแรงได้
ความรักโรแมนติกจะมาพร้อมการคาดหวังความสมบูรณ์แบบ หลายครั้งเวลาเมื่อความรุนแรง ความรักจะถูกหยิบยืมในนามของอาวุธ
“ความรุนแรงที่เกิดจากความรัก ไม่ควรเรียกว่าความรัก เพราะความรักจะไม่มาพร้อมความรุนแรง เมื่อพูดถึงความรักมันฟังดูอ่อนนุ่มและโรแมนติก ดูเป็นความปรารถนาดี ซึ่งจริง ๆ เราเข้าใจนิยามความรักผิดพลาด เราจัดวางขั้วของความรักให้เป็นเรื่องโรแมนติก ซึ่งความโรแมนติกมันมีพลังทำลายล้างสูงมาก เมื่อความรักถูกมาพร้อมกับความโรแมนติกมันจะเรียกร้องความสมบูรณ์ทุกอย่าง อย่างเช่น เธอต้องพิสูจน์รักแท้ แล้วมันจะมาพร้อมกับความคาดหวังว่าเขาต้องตามใจเราทุกอย่าง เขาต้องยอมรับในตัวเราให้ได้ เพราะนี่คือรักแท้ ซึ่งมันขัดต่อสัจธรรมและธรรมชาติในการใช้ชีวิตของมนุษย์”
“หลายครั้งเวลาเกิดความรุนแรง ความรักจะถูกหยิบยืมในนามของอาวุธ ที่จะมาทำร้ายคู่ชีวิต คู่รัก หรือความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น ๆ เพราะว่าเราไปเข้าใจผิดว่านี่คือสิ่งที่คู่รักต้องสนองตอบในลักษณะแบบนี้ สังหารในนามของความรัก ลงทัณฑ์ในนามของความรัก ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก”
มนุษย์เราอยู่กันด้วยความแตกต่าง เมื่อความรักไม่สามารถตอบสนองในความแตกต่างได้ จึงนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรง
“ความรักเป็นเพียงแค่เรื่องสมมุติ สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อปลอบประโลม หลายคนที่ไม่สามารถยึดเหนี่ยวตัวเองได้ ต้องเสาะแสวงหาการยึดเหนี่ยวจากคนอื่น แต่ความรักจากคนอื่นก็ไม่สามารถเติมเต็มเราได้ เพราะมนุษย์เราอยู่กันด้วยความแตกต่าง เราเกิดมาท่ามกลางความแตกต่างและความเป็นตัวเอง เมื่อความรักไม่สามารถตอบสนองในความแตกต่างที่เราต้องการ จึงนำมาซึ่งการใช้ความรุนแรง”
ความรักที่แท้จริงต้องเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม
“ความรุนแรงไม่ใช่ความรัก เพราะความรักที่แท้จริงต้องเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม เมื่อไหร่ก็ตามที่ความรักของคนสองคนไม่สมดุลและไม่เท่าเทียม มันจะไม่ใช่ความรัก ปลายทางของความรักต้องนำคนสองคนไปสู่จุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ นั่นคือเสรีภาพ อำนาจที่เท่ากันนั้นจะทำให้มนุษย์เรามีความสัมพันธ์ที่พบอิสรภาพและเสรีภาพ”
สังคมไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงจะไม่เข้าใจถึงการมีความรักที่ให้อิสระ
“เสรีภาพและอิสรภาพเป็นเรื่องที่หล่อหลอมในสำนึกของคนได้ยากมาก ตราบใดที่สังคมเราแวดล้อมไปด้วยสิ่งที่เราไม่คุ้นชินกับเสรีภาพเลย เพราะเราใช้อำนาจกดข่มกันตลอดเวลาเพื่อที่จะใช้ให้อีกฝ่ายทำตามความต้องการของเรา เพราะฉะนั้นเราอยู่ในสังคมที่ไม่เคยมีเสรีภาพจริง ๆ เราจึงไม่เข้าใจว่าการมีความรักที่ให้อิสระต่อกันมันคืออะไร เพราะอยู่ในสังคมที่มีฐานของอำนาจนิยมอยู่ในทุกระบบ ทุกอณูของสังคม ตั้งแต่การเมืองในทุก ๆ ระดับที่มันส่งผลต่อชีวิตเรา จนทำให้เราไม่เคยสัมผัสคำว่าเสรีภาพ”
ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมนำไปสู่ความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า
“เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม อิสระจึงไม่เกิด เป็นเรื่องที่ต้องมาชอกช้ำทุกครั้งเวลาที่เราต้องรับรู้เรื่องราวความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า ที่มาในนามที่ว่า -เพราะฉันรักเธอเกินไป- จนกระทั่งนำไปสู่จุดที่เราพูดว่าเราจะรักกันจนตาย ใช่ มันอาจจะมีบางชีวิตที่ต้องจากไปก่อน และนี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ หรือไม่ใช่เพียงอุทาหรณ์สอนใจจากละครชีวิตเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคม”
สุดท้ายเราต้องเพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่อง "ความสัมพันธ์"
“ความรักควรเป็นเรื่องของการเสี้ยมสอนปลูกฝังโดยสังคม ควรมีหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาความรัก ทั้งการสร้างมนุษยสัมพันธ์ และ -การออกจากความสัมพันธ์- ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก การศึกษาเราไม่เคยให้พลเมืองรู้เรื่องเหล่านี้เลย เราให้พวกเขาไปตามชะตากรรม ไปเรียนรู้กันเอาเอง มันจึงเกิดปัญหาจากเรื่องเหล่านี้ จากความรักครั้งหนึ่งเคยร่วมชีวิตกัน เคยเป็นคนที่รักกันมาก พอถึงวันที่จะเลิกกัน ทำไมรักที่เคยมากที่สุดวันนั้นมันจึงกลายเป็นยาขม กลายเป็นการจบชีวิตของอีกฝ่าย และอีกฝ่ายต้องเข้าเรือนจำ กลายเป็นตอนจบที่ขมขื่น จะต้องมีผู้หญิง ผู้ชายตกอยู่ในวงจรอีกมากมายเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้สอนกันเรื่องลาจากในความสัมพันธ์”