(เผยแพร่บทความเมื่อ 31 มีนาคม 2566)
จากกรณี คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวจัดงานเทศกาลสงกรานต์ กทม. 2566 “สืบสานวิถีไทย ร่วมใจสู่สากล” ระบุว่าให้การขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ห้ามเล่นแป้ง และกระบอกฉีดน้ำแรงดันสูงนั้น คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนาวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ในประเด็นเหล่านี้ตนไม่ติดใจอะไร แต่ที่ติดใจและผิดหวังมากคือการที่ผู้ว่าฯ ได้เน้นย้ำว่าห้ามแต่งตัวโป๊ วาบหวิวเล่นสงกรานต์ เพราะเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศ ทั้งที่จริง ๆ แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัวโป๊หรือวาบหวิวเลย สาเหตุที่แท้จริงของการคุกคามทางเพศ มาจากอำนาจที่เหนือกว่าของผู้กระทำ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์จะเห็นผู้กระทำมักจับกลุ่มกันทำพฤติกรรมลวนลามทางเพศ และส่วนใหญ่มีอาการมึนเมา เช่น แตะเนื้อต้องตัว ใช้แป้งเป็นข้ออ้างเข้าไปสัมผัสอวัยวะต่าง ๆ ของผู้ถูกกระทำไม่ว่าจะแต่งตัวอย่างไร อายุเท่าไร ก็ถูกคุกคามทางเพศได้ จุดนี้เราขอยืนยัน
“มูลนิธิฯ และภาคเครือข่ายร่วมกับ กทม.รณรงค์ ป้องกันอย่างเข้มข้น ไม่ให้มีปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์มากว่า 10 ปี ทุก ๆ ครั้ง ข้าราชการ กทม. ผู้ว่าฯ ยังเสนอวาทกรรมซ้ำ ๆ คือห้ามแต่งตัวโป๊ แต่ปัญหาก็ยังมีให้เห็นตลอด มูลนิธิฯ เคยท้วงติงไปหลายครั้ง ปีล่าสุดนี้กลับยังใช้วาทกรรมเดิม ๆ เสมือนโยนความผิดใส่ผู้ถูกกระทำ แล้วปล่อยคนผิดลอยนวล ผมคิดว่าควรเลิกวาทกรรมห้ามแต่งตัวโป๊เสียที”
สิ่งที่ กทม.ควรทำเพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ผู้ร่วมงานมีความปลอดภัย คือ ออกกฎห้ามการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ ทุกเพศสภาพ รณรงค์ให้ช่วยกันเฝ้าระวังป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ มากกว่าที่จะมาออกกฎควบคุมคนที่ถูกกระทำโดยการห้ามแต่งตัวโป๊ และ กทม. ควรประสานหน่วยงานรัฐ เช่น ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้คอยเฝ้าระวัง ลงโทษผู้ที่กระทำการละเมิด จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุไม่พึงประสงค์ในพื้นที่เล่นน้ำหรือจัดกิจกรรม อำนวยความสะดวกหากผู้เสียหายต้องการใช้สิทธิในทางกฎหมาย