แชร์

Recap เวทีเสวนา 16 ปี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงฯ

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
481 ผู้เข้าชม
Recap เวทีเสวนา 16 ปี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงฯ

(เผยแพร่บทความเมื่อ 8 เมษายน 2566)

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ถ้าลองเปรียบกฎหมายฉบับนี้ เป็นธุรกิจหนึ่งที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำ เขาทำบรรลุวัตถุประสงค์หรือเปล่า ลองคิดดูว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ใครที่เป็นเป้าหมาย ใครคือกลุ่มลูกค้า กลุ่มลูกค้าในที่นี้คือกลุ่มที่กฎหมายต้องการที่จะคุ้มครอง ซึ่งชื่อของกฎหมายก็บอกไว้ชัดเจน เป็นกฎหมายที่ไม่ต้องคิดเลย เพราะฉะนั้นอันนี้ชัดเจนมากเลยว่าใครคือกลุ่มที่จะต้องเข้ามาเป็นลูกค้า ที่รัฐจะต้องสนใจ ทีนี้มันก็ต้องมีต่อไปว่า แล้วอะไรคือสิ่งที่รัฐต้องทำให้กับคนเหล่านี้ นั่นก็คือเจตนารมย์ของกฎหมาย"

"เหตุผลที่เขียนไว้ในกฎหมาย เรื่องของการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ป้องกันดูแล เยียวยา มีประมาณ 7 บรรทัด ซึ่งตัวอักษรเขียนไว้ดี แต่พอถึงบรรทัดที่ 8 ที่บอกว่า รวมทั้งสามารถรักษาในความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวไว้ได้ แม้จะอยู่แค่ 3 บรรทัดสุดท้าย แต่กลายมาเป็นประโยคที่ปิดท้าย ซึ่งทำให้หัวใจทั้งหมดที่อยู่ด้านบนหายไปหมดเลย หากเราดูข้อมูล ภาพอินโฟกราฟฟิคต่าง ๆ เราจะเห็นว่า วัตถุประสงค์คือการคุ้มครองป้องกันผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง บำบัดฟื้นฟู ยับยั้งการกระทำความผิดซ้ำ สามข้อนี้ดีหมดแต่มาตกข้อสุดท้ายเรื่องการรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว มันไม่ไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้เลยว่าสิ่งที่รัฐมีหน้าที่ต้องทำมันไม่สอดคล้องแล้วหนึ่งข้อ ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งที่รัฐควรจะดูแลมากที่สุดก็คือความปลอดภัยและสวัสดิภาพของของบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก ผู้ชาย หรือใครก็ตาม เขาจะต้องมีความปลอดภัยในการที่จะอาศัยอยู่ในครอบครัวนั้น นั่นคือสิ่งที่เขาต้องทำ"

"นอกจากนี้แม้กฎหมายจะบอกว่ามุ่งคุ้มครองสิทธิผู้ถูกกระทำ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการสงวน คุ้มครองสถานภาพการสมรสด้วย ซึ่งสถานภาพการสมรสกับความปลอดภัยมันไม่ได้อยู่ในเรื่องเดียวกัน เมื่อมองไปถึงมาตราที่พูดถึงเรื่องของการไกล่เกลี่ยยอมความ ตัวบทตามกฎหมายเริ่มต้นด้วยคำว่าเพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ยในการยอมความ พอพูดแบบนี้แปลว่าความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่การไกล่เกลี่ยยอมความ ไม่ใช่ความผาสุก ความสงบ ความปลอดภัย สวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำ เพราะฉะนั้นสะท้อนให้เห็นได้เลยว่าทำไม เพราะกฎหมายเขียนแบบนี้ เริ่มต้นคำว่าเพื่อ นั่นคือวัตถุประสงค์หลัก เพราะฉะนั้นคำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่มีนะคะ อันนั้นจะไม่มีขึ้นประโยคที่อยู่ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ดังนั้นการใกล่เกลี่ยยอมความมันควรเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญควรที่จะอยู่ในมาตรการว่าทำอย่างไร"

"เมื่อเรารู้แล้วว่าใครเป็นคนที่กฎหมายต้องคุ้มครอง ดังนั้นเราต้องมาดูต่อว่าช่องทางที่จะเข้าถึงตัวประโยชน์ในการใช้กฎหมายฉบับนี้คือใคร มันไม่ชัด มาตรการส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างไรบ้าง ใครจะมีบทบาทอย่างไรบ้าง แต่กฎหมายฉบับนี้ถึงแม้ว่ามีเจตนารมณ์ที่ดีแต่ไม่ได้มองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นในเมื่อไม่ได้ให้เขาเป็นศูนย์กลาง การออกกฎหมายก็แน่นอนจึงออกมาค่อนข้างที่จะมองในฝ่ายรัฐ ในฝ่ายของการจัดการของรัฐมากกว่าที่จะมองว่าสุดท้ายแล้วทำอย่างไรที่จะให้คนเหล่านี้ได้รับการปกป้องคุ้มครองจริง ๆ"

......

คุณอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

"สำหรับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ (บ้านพักฉุกเฉินดอนเมือง) เราคำนึงถึงสถานการณ์ของผู้หญิงที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งผู้หญิงที่เข้ามาส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะไม่เชื่อมั่นว่ากลไกในกระบวนการยุติธรรมจะสามารถให้ความคุ้มครองได้ หรืออาจจะเคยมีประสบการณ์ที่ฉันแจ้งตำรวจก็แล้ว แจ้งผู้นำชุมชนก็แล้ว ไม่ได้รับการตอบสนอง"

"ข้อกฎหมายจริง ๆ แล้วอาจจะมีส่วนที่ดีอยู่บ้างในแง่ของตัวอักษรที่มองว่ากล้าจะตอบโจทย์ผู้หญิงบางส่วนที่ต้องการให้ได้สามีกลับมา แล้วก็อยู่กันอย่างสงบสุข แต่ว่ามีข้อกฎหมายในทางปฏิบัติที่เราไม่ได้เห็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดมีการปรับพฤติกรรมได้อย่างแท้จริง มันอยู่ในตัวบทแต่ว่าไม่มีวิธีการตอบสนอง แล้วที่ยิ่งไปกว่านั้นการที่ตัว พ.ร.บ. เน้นในเรื่องของการที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็อยู่บนฐานคิดของคนทั่วไปในสังคมที่มองเรื่องนี้เป็นเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ในกรณีที่เราเจอคือผู้หญิงที่เข้ามาในบ้านพักฉุกเฉินด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย และสิ่งที่เขาต้องการคือการที่จะดำเนินชีวิตอยู่โดยที่สามารถไปทำงานได้ ทำมาหากินได้โดยที่ตัวเองไม่ถูกทำร้าย ซึ่งตรงนี้ พ.ร.บ. ไม่สามารถตอบโจทย์ได้"

"จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีผู้หญิงที่ประสบปัญหาเคยถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในชั้นอัยการ ชั้นศาล ไกล่เกลี่ยให้คืนดีกันทั้ง ๆ ที่กว่าเขาที่จะสามารถมาแจ้งความได้ เขายากลำบากมาก อันนี้ก็เป็นประเด็นที่คิดว่าไม่ถึง 50% ในแง่ตัวบทที่มันเหมาะสมแล้วก็บวกกับการบังคับใช้ที่คนที่อยู่ในกลไกเหล่านี้มีฐานคิดเดิมที่ไม่ได้มองเรื่องของการที่จะให้ความคุ้มครองต่อผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ส่วนตัวมองว่า 16 ปีที่ผ่านมาอยู่ในวังวนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย และไม่สามารถที่จะทำให้เกิดกลไกต่าง ๆ ยังเน้นอยู่ในเรื่องของการที่จะรักษาความเป็นครอบครัว"

"จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่ไปขอรับบริการ 4,720 รายถูกกระทำจากสามี และ 3,800 ราย ถูกกระทำจากแฟน อันนี้จากผู้ที่ถูกกระทำที่ไปหาที่โรงพยาบาล 15,000 ราย เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าผู้ถูกกระทำไม่ซื้อกฎหมายฉบับนี้แน่นอน เพราะว่าไม่ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นคิดว่าทำอย่างไรที่จะต้องให้เกิดกระบวนการที่สามารถที่จะเข้าไปรับการเยียวยาและมีกระบวนการปรับพฤติกรรมได้อย่างแท้จริง จะทำอย่างไรที่จะมีเงินกองทุนช่วยเหลือผู้หญิง ถ้าไปฟ้องคดีอาญาอย่างน้อยเข้าไปขอเงินทดแทนผู้เสียหายคดีอาญาได้ แต่พอเข้า พ.ร.บ. นี้ไม่ใช่คดีอาญาแล้ว กลายเป็นมองเรื่องของการที่จะต้องมาไกล่เกลี่ยกัน เป็นการตัดสิทธิ์ของผู้หญิงที่จะเข้าถึงเงินทดแทนผู้เสียหายคดีอาญา เคยมีกรณีที่ทำร้ายจนถึงไส้แตก คุยไปคุยมาผู้หญิงไปเข้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ถือว่าเป็นการบิดเบือน ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับการเข้าถึงตามกฎหมายอาญา เพราะฉะนั้นดิฉันเลยคิดว่าไม่ต้องมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ได้ ถ้าสมมุติว่ามีแล้วไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามกฎหมายอาญาในทุกกรณี เพราะว่าในชั้นอัยการก็สามารถที่จะชะลอการฟ้องได้ ถ้าผู้หญิงต้องการและมีแนวโน้มว่าผู้ชายจะปรับพฤติกรรมได้จริง เพราะฉะนั้นฟันธงเลยว่ามันทำให้เห็นถึงการบิดเบือน ผู้ถูกกระทำก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งในแง่ของค่าเสียหายด้วย ผู้กระทำก็ลอยนวล เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงตามกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ซึ่งประเทศไทยไปรายงานกี่ครั้งก็ถูกตั้งคำถาม หากยังเป็นแบบนี้ยกเลิกไปเลยก็ได้ ใช้กฎหมายอาญาก็พอ"

......

คุณบุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก องค์กร Save the Children ผู้ก่อตั้งองค์กร SHero

"จริง ๆ ในตัว พ.ร.บ. น่าจะมีปัญหาตั้งแต่ระดับเจตนารมณ์ของมันค่ะ เพราะว่าในเจตนารมณ์ค่อนข้างเน้นครอบครัวมาก ๆ คราวนี้นึกภาพคนที่ใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ พนักงานเจ้าที่ตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ พมจ. (สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) ต่างๆ หรือเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองผู้ถูกกระทำตามพ.ร.บ. ที่ทุกจังหวัดมีเเค่ 1 คน หรืออะไรอย่างนี้ค่ะ ลองนึกภาพคนในกระบวนการยุติธรรม ศาล อัยการ ตำรวจ ถือกฎหมาย 1,000 ฉบับ แล้วไม่มีเวลามานั่งเข้าใจตัว พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แล้วเขาไปเห็นเจตนารมณ์ที่บอกว่า เพื่อให้ครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกัน เพื่อการไกล่เกลี่ย ประนีประนอม เห็นคำว่าประนีประนอม คนไทยอะเนอะก็สรุปไปเลย"

"เคยเจอเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจว่า หน้าที่ของฉันคือทำให้เขาดีกัน จริง ๆ ทั่วประเทศเลยนะที่เจอมา เพราะฉะนั้นถ้ามันโฟกัสผิดคน ว่าเราต้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ตามหลักแล้วคุณต้องคุ้มครองผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง เพราะว่าฐานอำนาจเขามันไม่เท่ากันกับผู้กระทำ ถ้าไม่มีตรงนี้เราก็พลาดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นการร่างกฎหมายใหม่ก็ต้องมาดูกันว่าตัวเจตนารมณ์ควรเขียนไม่ให้มันชักจูงความเข้าใจผิดของผู้ใช้กฎหมายที่ดูอยู่มากมาย และอาจจะไม่มีเวลามานั่งเข้าใจมัน"
"คราวนี้เข้าใจว่าตัว พ.ร.บ. เอาหลักเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ แต่เป็นการสมานฉันท์เเบบตื้นเขิน เป็นการกระโดดข้ามไปเลยว่าต้องกลับมาอยู่ด้วยกัน ถ้ามันจะไปต่อได้มันต้องเข้าใจว่าเราต้องเน้นการคุ้มครอง การคำนึงถึงความปลอดภัย"

"กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นเครื่องมือที่ง่ายมาก ผู้เสียหายสามารถเดินเข้าไปศาล ไปขอเองได้เลย ผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 18 ปี เดินไปศาลไปขอเองได้ ด้วยวาจาก็ได้ เพื่อให้มีมาตรการบางอย่างในการมาคุ้มครองตัวเอง เหมือนขอให้ผู้กระทำห้ามเข้าใกล้ภายในระยะเวลา 500 เมตร ขอให้ผู้กระทำห้ามติดตาม ห้ามคุกคาม และถ้าศาลมีคำสั่งฉุกเฉินออกมาภายในหนึ่งวัน ก็สามารถทำได้เลย และถ้าผู้กระทำละเมิด ศาลมีอำนาจสั่งขังทันที คราวนี้มันคือการเอากฎหมายมาบังคับใช้ได้เร็วขึ้น แต่ปัญหามันคือกฎหมายตรงนี้พิการค่ะ"

"จากการทำงานของทนายอาสาและทีมเคสเมเนเจอร์อาสาของเรา เรามีเคสที่เกิดขึ้นแทบจะทั่วทุกภาค แล้วค้นพบว่าส่วนใหญ่ ศาลบางศาลเคยได้รับคดีคุ้มครองสวัสดิภาพเเค่ครั้งเดียวในปีนึง หรือผู้พิพากษาบางคนไม่เคยเห็นเลยตลอดชีวิตการทำงานของเขา ในขณะที่ศาลกลางยังน้อยมากเลย คราวนี้มันเกิดอะไรขึ้น มันไปไม่ถึง แต่พอสถิติที่เคยเกิดขึ้นมันน้อย เจ้าหน้าที่รัฐบางท่านก็เข้าใจว่ามันน้อย แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ ที่มันน้อยเพราะมันมาไม่ถึง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องให้ถูกเก็บอยู่ใต้พรม โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบ พื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติ มีผู้ลี้ภัย พื้นที่ที่มีความไม่สงบ ยิ่งช่องว่างทางกลไกความคุ้มครองเยอะเเค่ไหนเคสจะแรงขึ้น เยอะขึ้นเท่านั้น เพราะผู้กระทำรู้สึกว่าฉันทำได้ แล้วถ้าผู้เสียหายทุกคนมีสิทธิ์มาประเมิน กรอกแบบสอบถามทุกครั้งที่เขาพยายามมาขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเดินเข้าไปที่โรงพยาบาล ไปหา พมจ. ไปหาตำรวจ แล้วถ้าทุกครั้งที่เขาเข้าไปแล้วเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือ เขาสามารถมีการฟีดแบคได้เนี่ย เราจะได้สถิติที่เเท้จริงเลยว่ามีเคสที่ต้องการความช่วยเหลือกี่คนแต่ถูกปิดประตูใส่ มันเลยไม่อยู่ในระบบ นี่เป็นปัญหาเชิงระบบที่ไม่ต่อเนื่องกัน ขาดการทำงานบูรณาการของสหวิชาชีพด้วย"

"กฎหมายเขียนขึ้นมาโดยที่ไม่เข้าใจในวัฏจักรความรุนแรงในครอบครัว มันจะมีระยะที่สำคัญคือ Honeymoon phase จะเกิดขึ้นหลังจากความรุนแรงมันประทุขึ้นมาแล้ว ผู้ถูกกระทำจะถูกผู้กระทำใช้เล่ห์กลให้โทษตัวเอง เราเจอผู้ถูกกระทำกล่าวโทษตัวเองบ่อยมาก ถามว่ามันใช่ความผิดเขาไหม ไม่นะคะ มันคือบาดแผลทางจิตวิทยาที่มันอยู่มานาน แล้วยิ่งถ้าเขาอยู่ในสังคมครอบครัวที่โทษผู้หญิงมาก ๆ แล้วเอาภาระหน้าที่ไปอยู่กับผู้เสียหาย พอผู้กระทำยิ่งมากล่าวโทษว่าที่เกิดขึ้นมันเป็นความผิดของเธอ เขายิ่งตัวเล็กลงเข้าไปอีก กฎหมายเขียนว่าให้มีมาตรการบำบัดเยียวยาผู้ถูกกระทำ ให้เขารู้ตัวว่าจะทำยังไงให้ไม่ถูกกระทำ คือกลายเป็นว่าโทษเหยื่อไปในกฎหมายอีก แต่ทุกคนต้องเข้าใจว่าความรุนแรงจะหยุดลงได้เมื่อผู้ใช้ความรุนเเรงถูกทำให้หยุด แล้วต่อให้เราทำงานกับผู้เสียหายมากเท่าไหร่แต่ถ้าไม่มีใครไปจัดการกับผู้ใช้ความรุนแรงเลยเขาก็ใช้ไปเรื่อย รุนแรงไปอีก ส่วนใหญ่ผู้เสียหายถูกกดดันให้กลับเข้าไปอยู่ในวงจรที่มีความรุนแรง แล้วหลายครั้งผู้พิพากษาสมทบ คนในกระบวนการยุติธรรมเองที่เป็นคนทำเเบบนั้นกับเขา กระบวนการไกล่เกลี่ยมันมีปัญหามาก ๆ ถ้าถูกใช้โดยคนที่ไม่เข้าใจ เราไม่ได้บอกว่าห้ามไกล่เกลี่ยทุกเคส แต่ต้องมีเงื่อนไขที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ ต้องทำให้แน่ใจว่าผู้เสียหายปลอดภัยแล้ว ไม่ถูกขู่ ไม่ถูกกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องเข้าใจว่าเขาต้องอยู่ในสภาวะที่มีเวลาหายใจ มีเวลาพักและมีเวลาตั้งสติคิดว่าฉันต้องทำยังไงต่อ ไม่ใช่อยากรวบรัดทำให้เสร็จ"

"เคสความรุนแรงในครอบครัวกลับถูกมองว่ามันไม่ใช่เคสวาระแห่งชาติ แถมยังเป็นเคสที่ต้องใช้พลังงานเยอะ เคสลักษณะนี้ทำยากนะคะเพราะว่ามันคือคน มันมีด้านสังคม ด้านจิตใจด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่มันมีเรื่องจิตวิทยา เรื่องสังคม เรื่องอาชญาวิทยา ถึงจะต้องใช้ทีมงานอย่างเข้าใจที่แท้จริง เพราะฉะนั้นอาจจะต้องพิจารณาการที่จะต้องมีเงินกองทุนเรื่องนี้โดยเฉพาะ เหมือนที่มีกองทุนคุ้มครองเด็ก นอกจากนี้ก็อาจจะต้องมีคนที่เป็นคณะกรรมการหรือเรื่องนโยบายให้อยู่ในกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะถ้าเขียนไว้กว้าง ๆ ทุกคนก็จะผลักงานกัน แล้วคนที่ทำเรื่องนี้ก็ต้องทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ จะเป็นไปได้ไหมถ้าจะมีตำรวจ อัยการ อยู่ในทุก ๆ จังหวัดที่ทำเคสเหล่านี้โดยเฉพาะเลย ไม่ใช่ว่าให้เขาจับหลายเคส ไม่งั้นเขาก็จะเอาอันนี้ไปอยู่ล่างสุด ลักษณะการทำงานก็จะกลับกลายเป็นเหมือนเดิม รีบปิดเคสเหมือนเดิม"

"ในส่วนของมาตรการไกล่เกลี่ยก็ควรเอาออกไปเลย คือมันมีเงื่อนไขได้ แต่มันไม่ควรจะมาเป็นหัวใจสำคัญ มันคือกรณีที่อีกคนตัวเล็กกว่ามาก ๆ ตัวเล็กว่า ไม่ได้หมายถึงว่าเขาอ่อนเเอหรือเปราะบาง แต่หมายถึงเขาถูกบีบด้วยหลายอย่าง ส่วนใหญ่ที่เจอก็จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องลูก เด็กมักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือการยื้อให้ผู้หญิงอยู่ในความรุนแรงในครอบครัว มาตรการต่าง ๆ สมมุติว่ามีการขอคำสั่งคุ้มครองแล้ว มีมาตรการออกมาแล้ว ควรเขียนไว้ในกฎหมายเลยว่าต้องมีการติดตาม เราไม่ได้จะเอาผู้กระทำไปเข้าคุกในทันที ถ้าสมมุติต้องมีการบำบัดก็ต้องมีการติดตามว่าแต่ละเดือนเป็นอย่างไร ปลอดภัยไหม ไม่ใช่แค่การโทรถาม และเรื่องอายุความ กฎหมายเขียนไว้ 3 เดือน แต่ในปัจจุบันร่างใหม่มาเป็น 6 เดือน แต่ในกระบวนการคิด กว่าที่เขาจะคิดว่าปลอดภัยพอที่จะก้าวออกมาอย่างแท้จริงโดยไม่ถูกตามฆ่า มันนานมาก แล้วยิ่งถ้าภาครัฐไม่ได้ให้ความสนใจอย่างแท้จริง บางครั้งต่อให้โทร 1300 เอง กว่าจะเกิดการลงพื้นที่หรือเข้ามาวางแผนเพื่อความปลอดภัยจริง ๆ มันใช้เวลานานมาก อายุความ 6 เดือนมันอาจจะไม่พอด้วยซ้ำ แต่ก็ดีที่กฎหมายเขียนไว้ว่าไม่ตัดสิทธิ์ในการขอคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ ต่อให้เคสนี้ผ่านมาในระยะหนึ่งแล้ว"

"ทุกคนต้องลบภาพที่เห็นจากโฆษณาความรุนแรงในครอบครัว ที่ผู้หญิงต้องมีแผลเต็มหน้า แต่จริง ๆ แล้วแผลมันไม่ได้อยู่ตรงหน้าหรอกค่ะ แต่มันอาจจะช้ำอยู่ข้างในจิตใจ คิดว่าผู้ปฏิบัติยังไม่เข้าใจว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตคนคนหนึ่งแค่ไหน กฎหมายเขียนว่าพนักงานสอบสวน จะต้องส่งเรื่องภายใน 48 ชั่วโมง ความเป็นจริงมีกี่เคสที่ทำแบบนั้น กระบวนการไกล่เกลี่ย มันไม่ควรจะเป็นห้องเชือดที่ผู้เสียหายมาถูกกระทำซ้ำในชั้นศาล หรือชั้นก่อนศาล การไกล่เกลี่ยนอกศาลก็ไม่ควรกระทำอย่างยิ่งเลย ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ๆ สิทธิในการดำเนินกระบวนการพิจารณาออนไลน์หรือแบบไม่ต้องเผชิญหน้ากันมันควรทำให้เกิดขึ้นจริง หลายเคสผู้เสียหายถูกบังคับให้ไปวันเดียวกันหรือเผชิญหน้า แล้วผู้กระทำก็ทำการขู่จนทำให้เขาตัวเล็กลงไปอีก เราจะทำอย่างไรให้สามารถปกป้องผู้เสียหายให้เขาปลอดภัยได้"

......

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

"กฎหมายควรมีข้อพิจารณามีข้อปรับปรุง ทบทวน ทั้งในแง่ของตัวบท เนื้อหากฎหมายเองและการใช้กฎหมาย ถ้าไปดู พ.ร.บ. ที่ออกมาในปี 50 บทลงโทษของความผิดฐานกระทำความรุนแรงในกฎหมายฉบับนี้คือ จำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน หรือว่าเมื่อก่อนปรับ 6,000 บาท ตอนหลังมานี่ก็เพิ่มจากหลักพันให้เป็นหลักหมื่น ก็คือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท มันสะท้อนว่าในส่วนของการออกแบบกฎหมายในช่วงนั้น มีการขีดวงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไว้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะจัดการเฉพาะปัญหาแบบเบา ๆ จำคุกแค่ไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้โดยการขึ้นศาลเยาวชน ถ้าหนักกว่านั้นก็ให้ไปขึ้นศาลอื่น ศาลอาญา ศาลแขวงต่าง ๆ แล้วแต่ระดับโทษ เช่น ทำร้ายสาหัสหรือเสียชีวิต แล้วให้เอามาตรการต่าง ๆ ในกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ได้โดยอนุโลม ซึ่งคำว่าอนุโลมนี่แหละที่เมื่อไปขึ้นศาลอื่น ศาลอื่นอาจจะใช้มาตรการในการคุ้มครองดูแลหรืออาจจะไม่ใช้ก็ได้ ก็แล้วแต่ศาลนั้น ๆ อันนี้เป็นช่องโหว่ที่สำคัญ ซึ่งในกระบวนการตอนนี้กำลังจะมีความพยายามที่จะปรับกฎหมายฉบับนี้ แต่ว่ากระบวนการกว่าจะปรับแก้กฎหมายให้ขยายขอบเขตเรื่องอำนาจของศาลเยาวชนให้ครอบคลุมถึงความรุนแรงที่มีโทษจำคุกได้ถึง 10 ปี เอาคดีเหล่านั้นมาขึ้นศาลเยาวชน เพื่อที่จะได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เช่นการออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพให้กับผู้เสียหาย แต่กว่ากฎหมายจะแก้เสร็จเราก็ไม่รู้ว่าจะอีกยาวนานเท่าไหร่ ตรงนี้อยากให้เราติดตามกันดูว่ากฎหมายที่มีช่องว่างนี้ จะปรับได้แค่ไหน"

"กฎหมายเรื่องความรุนแรงในครอบครัว โดยเจตนารมย์เดิมมันควรจะเป็นกฎหมายเป็นตัวกำกับในเชิงนโยบายด้วย ไม่ใช่กฎหมายที่ลงโทษทางอาญาว่าถ้าทำผิดแล้วจะลงโทษทางอาญาอย่างเดียว มันควรจะมีการเสริมมาตรการอื่น ที่จะเน้นในเรื่องของนโยบาย ซึ่งนโยบายหนึ่งที่มันควรจะถูกรองรับโดยกฎหมายก็คือการปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพ ซึ่งของเราถ้าไปดูในมาตรา 18 ท้ายกฎหมายจะมอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพียงกระทรวงเดียวที่รับผิดชอบ ทั้งที่จริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาความรุนแรง ไม่ได้แก้ได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และถึงแม้จะมีหน่วยงานกลาง กฎหมายก็ไม่ได้ระบุอำนาจไว้ชัดเจนว่าถ้าคุณเป็นหน่วยงานกลาง แต่ว่าคุณมีอำนาจในการไปติดตามผล คุณมีอำนาจในการประเมินผล คุณต้องติดตามรายงานประเมินผล การปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นด้วยนะ เพราะมันอยู่ในกระบวนการของการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา เป็นกระบวนการเดียวกัน ซึ่งไม่ได้ให้ไว้ ในการแก้กฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่เท่าที่ทราบ ยังไม่มีการบรรจุเรื่องนี้เข้าไว้ ก็ยังคงให้กระทรวง พม. รักษาการเพียงกระทรวงเดียว ซึ่งก็เริ่มได้ยินเสียงเรียกร้องจากผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่น ว่าต้องให้กระทรวงหรือหน่วยงานอื่นที่ร่วมรับผิดชอบร่วมเข้ามาร่วมรักษาการตาม พ.ร.บ. นี้ พูดง่าย ๆ ก็คือให้พวกเขามีอำนาจในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ. นี้ด้วย ด้านที่ดีด้านหนึ่งคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ปฏิบัติงานโดยที่มีกรอบกฎหมายรองรับว่าเขามีอำนาจตามกฎหมายนี้นะ จะออกระเบียบขึ้นมารองรับ จะจัดสรรงบประมาณ จะกำหนดเป็นตัวชี้วัดที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติ ในส่วนนี้เขาก็จะทำได้เต็มที่ แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มี รายงานต่าง ๆ ที่ทำอยู่ก็ทำด้วยความเห็นว่ามันเป็นปัญหา แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นบทบาทที่เขาควรจะทำ แต่ก็ไม่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน"

"อีกส่วนที่เราต้องพูดถึงคือตำรวจ หลายครั้งเราก็จะเจอช่องว่าง ด้วยเหตุผลสารพัด ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเคสความรุนแรง ทีนี้ถ้ากฎหมายระบุอย่างชัดเจน เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องร่วมรับผิดชอบปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะสามารถดูได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. แต่ไม่ปฏิบัติตาม นี่ก็จะเป็นผลในการที่จะผลักดันการพัฒนาระบบไปได้อีก"

"จริง ๆ กลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านความรุนแรงในครอบครัว เราได้มีการพูดคุย และมีข้อเสนอในการปรับกฎหมายฉบับนี้ไปแล้ว แต่สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำใน 2 ส่วน นั่นคือเรื่องเจตนารมณ์ อย่างไรก็ต้องแก้ ทั้งในส่วนที่เป็นหมายเหตุแนบท้ายที่พูดถึงการให้โอกาสผู้กระทำได้กลับตัวกลับใจ กลับคืนสู่ครอบครัว ส่วนนี้ต้องเอาออกไปเลย เน้นหลักการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยและการเยียวยาผู้เสียหายเป็นหลัก ให้สมกับชื่อของกฎหมาย และไปไล่แก้รายมาตราต่าง ๆ เช่น ข้อความที่บอกถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดี การสงวนและคุ้มครองสถานภาพการสมรส ซึ่งเป็นคำที่แสดงเจตนารมย์ในการให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นครอบครัวมากกว่าการคุ้มครองผู้เสียหาย ซึ่งเจตนารมย์ของกฎหมายจะเป็นฐานอุดมการณ์และส่งผลต่อวิธีคิดของผู้ปฏิบัติงาน อีกเรื่องคือการใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ ใช้ผลักดันนโยบายและผลักดันการพัฒนาระบบการทำงาน กฎหมายนอกจากจะต้องเพิ่มหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวของ ควรจะเพิ่มบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีความชัดเจน ต้องเป็นฐานในการสร้างพันธกิจของหน่วยงาน เพื่อที่หน่วยงานต่าง ๆ จะได้ปฏิบัติได้โดยมีกฎหมายรองรับ และภาคประชาชนจะสามารถติดตามความรับผิดชอบได้จากกฎหมายที่เขียนไว้ นอกจากนี้เราไม่ควรจะรอการแก้ไขกฎหมายอย่างเดียว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องเดินหน้าพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้เสียหายให้เข้มแข็งมากขึ้น"

บทความที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 พ.ย. 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 พ.ย. 2023
“เพื่อนช่วยเพื่อน” กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
กรณีตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีทัศนคติ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการหนุนเสริมที่เข้าใจ และเป็นมิตร ที่เรียกว่า "เพื่อนช่วยเพื่อน" กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
28 ก.ย. 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy