(เผยแพร่บทความเมื่อ 11 กรกฎาคม 2566)
ช่วงที่ผ่านมามีข่าวความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะข่าวเด็กถูกใช้ความรุนแรงถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่การกักขัง ทุบตีทำร้ายร่างกาย จนถึงการฆ่า ล่าสุดพบศพเด็กหญิงวัย 12 ปี ถูกฆ่าอำพรางยัดถังน้ำแข็งโบกปูนทับ ผู้ก่อเหตุเป็นพ่อบุญธรรม ซึ่งข้ออ้างที่มักใช้เสมอคือ บันดาลโทสะ เพราะเด็กดื้อ ชอบขโมยของ เป็นต้น
จากการเก็บข้อมูลข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กรณีพ่อฆ่าลูก ระหว่างปี 2559-2564 มีจำนวน 15-25 ข่าวต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
"มายาคติด พ่อแม่เป็นเจ้าชีวิตของลูก" มายาคติในครอบครัวที่พ่อแม่มองว่าตัวเองเป็นเจ้าชีวิตของลูก ลูกเป็นสมบัติ การลงโทษจึงเป็นการแสดงถึงความรัก ความหวังดี ถ้าอยากให้ลูกเป็นคนดีก็ต้องตี มายาคติเหล่านี้หล่อหลอมให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ลูกต้องอยู่ในสายตา หากทำอะไรผิดต้องถูกลงโทษรุนแรง เพื่อให้หลาบจำ หรือเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดูเหมาะสม
ขาดความผูกพัน การเรียนรู้ ร่วมทุกข์ร่วมสุข และทักษะการใช้ชีวิตในครอบครัว
หลายครอบครัวขาดความผูกพัน การเรียนรู้ ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่มีการเตรียมพร้อม ขาดทักษะในการใช้ชีวิตเป็นครอบครัว อย่างกรณีของพ่อเลี้ยงที่ทำร้ายลูก เป็นครอบครัวที่เปราะบาง ไม่สามารถสื่อสารด้วยเหตุและผลได้ เด็กจึงถูกใช้ความรุนแรงตั้งแต่เล็กจนโต
"อยู่ในสภาพสังคมที่มีแต่การใช้อำนาจกดทับ" การอยู่ในสภาพสังคมที่มีแต่การใช้อำนาจกดทับ บ่อยครั้งที่ผู้กระทำ เป็นผู้ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อเกิดความโมโห ไม่พอใจ ก็แสดงออกด้วยความรุนแรง หลายกรณีเมื่อสาวไปถึงปมจะพบว่าเคยอยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงมาก่อน หรือถูกกดขี่ ใช้อำนาจจากการทำงาน แม้กระทั่งการถูกใช้อำนาจจากครูในโรงเรียน ทำให้ผู้กระทำซึมซับความรุนแรง และคิดว่าการใช้ความรุนแรงคือทางออกของปัญหา
"สุรา ยาเสพติด ความเครียด" การดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ทำให้สมองส่วนควบคุมอารมณ์อ่อนด้อยลง ไม่สามารถใช้เหตุและผลในการตัดสินใจได้ นอกจากนี้ความเครียดที่เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ การหารายได้เลี้ยงชีพ หนี้สิน ก็ถือเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญเช่นกัน
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจะมองปรากฎการณ์ระดับปัจเจกไม่เพียงพอ เพราะเหล่านี้เกิดจากโครงสร้างทางสังคม ดังนั้นต้องแก้ปัญหาในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดส่งต่อการใช้อำนาจเหนือในทุก ๆ มิติของสังคม การให้มีรัฐสวัสดิการที่เพียงพอเพื่อให้สามารถเลี้ยงดูลูกโดยไม่ลำบาก การสร้างกลไกในการรองรับกับสถานการณ์ที่ผันผวน เช่น กรณีที่แม่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ หรือแม้กระทั่งการรับเลี้ยงดูบุตร การทำให้ประชาชนทราบกฎหมาย ว่าสิ่งใดที่ทำอยู่คือสิ่งที่ผิดกฎหมาย สร้างความรอบรู้ในการเข้าถึงการขอความช่วยเหลือ เมื่อเผชิญกับภาวะความเครียด เป็นต้น
นอกจากนี้ในระดับของการศึกษาก็ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน มีทักษะในการดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัว หากครอบครัวมีลูกก็ต้องสร้างกฎเกณฑ์ภายในครอบครัวด้วยเหตุและผล ให้ทุกคนเข้าใจบทบาทหน้าที่ ในขณะที่สังคมก็ต้องไม่มองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว และไม่มองข้ามสัญญาณที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว