บทความส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์
https://www.matichon.co.th/.../politics-in.../news_4128997
ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาทางสังคมเกี่ยวกับผู้หญิง และเด็ก จะมีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากกว่านี้ สิ่งที่สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล หากยึดถือเรื่องของประชาชนเป็นหลัก ควรจะเน้นปัญหาทางสังคมที่เห็นอย่างชัดเจน อาทิ ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ทุกวันนี้เกือบทุกวันจะเห็นข่าวทำร้ายร่างกาย หรือฆาตกรรม และรัฐบาลมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้น้อยมาก
การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ผลพวงของปัญหากองสุมอยู่ที่ประชาชนค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นผลของปัญหาที่มาจากความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม หรือความไม่เท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งหมดเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ตลอดระยะเวลา 9 ปี และปัญหามีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ควรจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้เรื่องประเด็นทางสังคมมาดำรงตำแหน่ง และไม่ใช่เพียงกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่จะต้องแก้ไขเรื่องนี้เพียงลำพังเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม ไปจนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องร่วมมือแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยมีการบูรณาการและเชื่อมโยงกันเพราะเรื่องความรุนแรงนั้น รากฐานเกิดจากระบบชายเป็นใหญ่ และหน่วยงานรัฐควรจะละทิ้งทัศนคติที่ว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว
เรื่องที่อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไข คือ แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงภายในครอบครัว ควรจะเน้นให้ผู้หญิงได้รับความคุ้มครอง หรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่นำมาซึ่งผลกระทบ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ซึ่งปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ หรือโครงสร้างชายเป็นใหญ่ ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดที่ควรจะแก้ไขได้ในระยะยาวคือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมให้ความคิดแบบชายเป็นใหญ่ลดลง
และตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาไม่มีการปรับปรุงหลักสูตร โดยจะต้องเพิ่มเติมหลักสูตรเหล่านี้เพื่อปรับทัศนคติ ให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องความเท่าเทียม และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ถัดมา เรื่องการควบคุมสื่อ เนื่องจากปัจจุบันในแพลตฟอร์มต่างๆ มีภาพของการกดทับผู้หญิงเต็มไปหมด นำเสนอภาพผู้หญิงที่เป็นเพียงวัตถุทางเพศ แม้กระทั่งรายการโชว์ที่มีการคุกคามแขกรับเชิญหญิง ซึ่งในส่วนนี้อยากให้มีการควบคุมอย่างจริงจัง และมีการเพิ่มสื่อที่มีความสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีความสำคัญต่อสังคมนี้มากไม่ต่างกัน
หรืออีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง คือ แอลกอฮอล์ จะเห็นได้ว่าปัจจัยกระตุ้นส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด รัฐบาลควรจะจัดการกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น หรือควบคุมให้จริงจังเพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยกระตุ้นที่นำมาสู่ความรุนแรงในครอบครัว รัฐบาลควรจะมีนโยบายควบคุม ไม่ใช่การสนับสนุนให้มีมากยิ่งขึ้นจนทำให้เกิดเป็นปัญหา
เรื่องถัดมา คือ รัฐบาลควรจะแสดงให้เห็นว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิง ชาย หรือเพศสภาพอื่นๆ อย่างไร รัฐบาลควรจะยึดถือให้เป็นนโยบายที่สำคัญ และในส่วนของเรื่องสมรสเท่าเทียม รัฐบาลหลายพรรคมีการพูดถึงอยู่แล้ว โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก ซึ่งดีแล้วหากจะรีบลงมือทำ แต่นอกเหนือจากเรื่องสมรสเท่าเทียม ควรจะมีเรื่องอื่นๆ ด้วยที่นำมาสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก และผู้หญิง ทุกวันนี้เรื่องทำแท้งก็มีปัญหามาก เมื่อผู้หญิงต้องการจะทำแท้งก็ทำไม่ได้ แม้จะมีกฎหมายออกมาแล้วก็ตามว่าสามารถทำแท้งได้อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่น่าแปลกที่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถทำได้ โรงพยาบาลหลายแห่งไม่ปฏิบัติตาม
ในส่วนของประเด็นสมรสเท่าเทียม จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการพลิกไปพลิกมา อาจจะส่งผลให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ถูกผลักดันต่อ โดยส่วนตัวมองว่า ในประเด็นดังกล่าวมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ให้ความสำคัญมาก พรรคการเมืองใดที่ให้สัญญาไว้ก็ต้องทำตามสัญญา อย่าสัญญาแบบเล่นๆ ส่วนตัวเชื่อว่า หากเครือข่ายหลายๆ เครือข่ายติดตามอยู่คงจะต้องกดดัน และมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง และทางภาคเอกชนคงไม่ปล่อยแน่นอ
นอกจากความเท่าเทียมที่สำคัญแล้ว อีกหนึ่งเรื่องคือ สวัสดิการ ที่ควรจะมีนโยบายอย่างชัดเจนที่ส่งเสริมสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะสวัสดิการครอบครัว และผู้หญิง เช่น เรื่องสิทธิในการลาคลอดที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ไปจนถึงสวัสดิการเลี้ยงเด็ก แม้กระทั่งเงินสำหรับเด็กเล็กเบี้ยคนชรา ล่าสุดจะมีการตัดเงินผู้สูงอายุเกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรจะทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับรัฐบาลใหม่ที่ควรจะประกาศว่าไม่เห็นด้วย และต้องยกเลิกเรื่องนี้
"สุดท้ายแล้วรัฐบาลควรจะให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพไหนๆ ในส่วนของผู้หญิงก็ควรที่จะมีเวทีให้ผู้หญิงได้แสดงบทบาท มีการรวมกลุ่ม และแสดงศักยภาพของตนเองให้มากกว่านี้"
คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล
ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล